นวัตกรรมกินผักถอดรหัสสุขภาพ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


นวัตกรรมกินผักถอดรหัสสุขภาพ thaihealth


นวัตกรรมกินผักถอดรหัสสุขภาพ กับการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัยทำงานด้วยการบริโภคผักผลไม้ 400 กรัม


"จากการศึกษาพบว่าคนเราถ้าทำอะไรซ้ำกัน 21 วัน จะเป็นนิสัยใหม่ของเราได้เหมือนหลักการตรงนี้มาทดลองเพื่อปรับเปลี่ยนให้คนหันมากินผักวันละ 400 กรัม" น.ส.จันทร์ จิดา งามอุไรรัตน์ หัวหน้าโครงการสร้างเสริม สุขภาพกลุ่มวัยทำงานด้วยการบริโภคผักผลไม้ 400 กรัม สนับสนุนโดยสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกเล่าถึงกลยุทธ์การทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนหันมาบริโภคผัก โดยจัดอบรมให้ความรู้ การปรุงเมนูผัก การล้างผัก ปลูกผักและประโยชน์จากการกินผักโดยนักโภชนาการ จัดกิจกรรม 21 วันมหัศจรรย์ผักผลไม้


หัวหน้าโครงการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มวัยทำงานด้วยการบริโภคผักผลไม้ 400 กรัม เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้อาสาสมัครจากสำนักงานต้นแบบทดลองปฏิบัติภารกิจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคผักผลไม้ของตนเองได้ตลอด 21 วัน โดยมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลปริมาณผักผลไม้ในอาหารแต่ละจานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมป้อนข้อมูลบันทึกไว้เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงในการบริโภคผักผลไม้ของตนเอง รวมถึงจัดทำไลน์กลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์แรงบันดาลใจในการกินผักผลไม้ นอกจากนี้มีการจัดกิจกรรมอบรมบุคคลต้นแบบ 33 คน เยี่ยมชมการปลูกผักแบบไร้สารเคมี และการย้ายกล้า ผสมดิน ทดลองปลูกผัก เรียนรู้การปรุงอาหารจากผักที่มีตามฤดูกาล การถนอมและแปรรูปผักผลไม้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริโภคผักผลไม้ของตนเอง รวมถึงระดมความคิดในการขยายองค์ความรู้เรื่องการบริโภคผักผลไม้สู่สังคมวงกว้าง ตลอดอบรมแม่ครัวต้นแบบซึ่งเป็นผู้ค้าในโรงอาหารของบริษัทให้เป็นผู้มีความรู้ในการปรุงอาหารเพื่อสุขภาวะด้วย


นวัตกรรมกินผักถอดรหัสสุขภาพ thaihealth


อารีย์ มะลอย พนักงานจากบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด เล่าว่า ได้ทดลองกินผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม เป็นเวลา 21 วัน ปรากฏว่า โรคเสียงแหบที่เป็นมานับปีเริ่มดีขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไปหาหมอ วินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน ทั้งๆ ที่ไม่ปวดแสบร้อนที่หน้าอกหมอให้ยารักษาตามอาการแต่สภาพเสียงก็ไม่ดีขึ้น จนเปลี่ยนมาบริโภคผักผลไม้ให้ครบ 400 กรัม อาการดีขึ้นพูดแล้วมีเสียงออกมาเดิมทีต้องใช้วิธีเขียนสั่งงานลูกน้อง จนชะล่าใจมาถึงหน้าทุเรียนกินทุเรียนหนัก กล้วยเบรกแตกเข้าไปอีก ทีนี้เกิดอาการเดิม จนต้องกลับมาเปลี่ยนพฤติกรรมกินผักเหมือนเดิม ต้องใช้เวลา 1 เดือน เสียงจึงกลับมา


ด้าน วรรณกานต์ มหาจงเลิศ พนักงานบริษัทที่เข้าร่วมกิจกรรมกินผัก เล่าว่า เมื่อได้มีความรู้แล้วนำความรู้ไปสู่ครอบครัวสนับสนุนให้สามีและลูกกินผักบอกถึงประโยชน์ โดยจะไม่พูดมากแต่เน้นให้เขาคิดเช่น คนเก่งมีเยอะในสังคมแต่คนเก่งก็แพ้คนมีโอกาส วันนี้คุณให้โอกาสร่างกายคุณหรือยัง


ทั้งคุณวรรณกานต์ และคุณอารีย์ เป็นบุคคลใน 33 คน จาก สสส. ที่ได้รับประกาศนียบัตรบุคคลต้นแบบ ที่นำความรู้ที่ได้แล้วปรับใช้ได้จริง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในประเทศให้หันมาบริโภคของ สสส. เน้นนำนวัตกรรมองค์ความรู้ การขยายผลมาปรับใช้


นวัตกรรมกินผักถอดรหัสสุขภาพ thaihealth


วรรณา ธรรมร่มดี ผู้จัดการบริหารสำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มวัยทำงานด้วยการบริโภคผักผลไม้ 400 กรัม ซึ่งได้รับความสนใจจากพนักงานอย่างมาก ถือเป็นการจุดประกายให้กับหลายๆ คนที่ไม่ชอบกินผัก ปรับเปลี่ยนความคิดมาลิ้มลองและเริ่มทานผัก ในขณะเดียวกันคนที่ทานอยู่แล้วก็ได้กัลยาณมิตรมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แลกเปลี่ยนเมนูอาหารและแบ่งปันวัตถุดิบกัน


สำหรับการจัดกิจกรรม ของบริษัทฯ มี 2 ส่วน คือ สำนักงานกรุงเทพ และ พนักงานฝ่ายผลิตที่โรงงานศรีราชา มีการจัดอบรมให้กับผู้ค้าในโรงอาหาร ซึ่งแม่ค้าที่ไปอบรมก็กลับมาปรับปรุงเพิ่มเติมเมนูผักมากขึ้น นอกจากนี้มีโครงการแปลงผักอินทรีย์ ที่มีการสาธิต อบรมการปลูกผักอินทรีย์ในบริเวณพื้นที่ว่างข้างอาคารสำนักงานและโรงงาน รวมถึงได้ต่อยอดในส่วนการจัดตลาดผักผลไม้อินทรีย์ขึ้น โดยได้เชิญชวนชาวสวนที่ปลูกผักแถวคลองจินดามาจำหน่ายเดือนละประมาณ 1-2 ครั้ง ที่ไลอ้อนกรุงเทพฯ ด้วย


นวัตกรรมกินผักถอดรหัสสุขภาพ thaihealth


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการบริโภคผักผลไม้ที่มีความปลอดภัยอย่างน้อยวันละ 400 กรัม ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตั้งเป้าบริโภคผักผลไม้อย่างเพียงพอเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.9 เป็น ร้อยละ 50 ในปี 2564 โดยเฉพาะสนับสนุนสถานประกอบการให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงสนับ สนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคผักผลไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน อาทิ ส่งเสริมการปลูกผัก การมีตลาดนัดหมุนเวียน หรือจัดเมนูอาหารสุขภาพสำหรับพนักงาน


เรื่องพาร่างกายไปรับรู้รสชาติของผักบ้างไม่ใช่เรื่องของเด็ก ๆ ที่เราเคยได้รับรู้ว่าเป็นเด็กต้องกินผักจะได้โต และแข็งแรง แต่วันนี้ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจเรื่องของผัก…บริโภคผักในวันนี้เท่ากับสร้างกำแพงป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต แทน ที่จะผลักภาระการรักษาโรคไว้ที่หมอและโรงพยาบาลเท่านั้น

Shares:
QR Code :
QR Code