นมแม่ 6 เดือน ‘ไกลบ้านก็ทำได้’ ถ้ามีนโยบายเอื้อ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"นมแม่…แน่ที่สุด" ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าช่วงเวลา 6 เดือนแรกในชีวิตของทารกแรกเกิดไม่มีอาหารใดเหมาะสม ไปกว่านมแม่อีกแล้ว แต่ในความเป็นจริงของโลกปัจจุบันที่ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เช่นเดียวกับผู้ชาย โดยเฉพาะการไปทำงานไกลบ้านมากๆ เช่น ในประเทศไทยที่ผู้หญิงจากจังหวัดต่างๆ ต้องทิ้งบ้านเกิดมาทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอันเป็นเมืองแหล่งงาน แล้วก็ฝากลูกให้ผู้สูงอายุดูแล
การที่ผู้เป็นแม่ไม่มีเวลา นำมาซึ่ง "การรุกคืบ ของธุรกิจนมผง" มีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนักหน่วงว่ามีสรรพคุณวิเศษมากมายจนเป็นที่นิยม กระทั่งต่อมา "รัฐบาลต้องออกกฎหมายห้ามธุรกิจนมผงทำการตลาดในกลุ่มเด็กแรกเกิด แต่นั่นอาจไม่เพียงพอ" เพราะด้วยสถานที่และเวลาที่ไม่เอื้ออำนวยของผู้เป็นแม่ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อผิดๆ บางประการที่ทำให้ทารกไม่ได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ตลอดช่วงเวลา 6 เดือนแรก
เมื่อเร็วๆ นี้ "ทีมงาน นสพ.แนวหน้า" ติดตามคณะทำงานของโครงการสร้างคนไทย สุขภาพดีด้วยนมแม่และการบริโภคผัก- ผลไม้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ องค์การบริหาร ส่วนตำบล (อบต.) ดอนนางหงส์ ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ไปรับฟังความคืบหน้าของการสนับสนุนให้แม่ที่ไปทำงานไกลบ้านส่งนมกลับมาให้ลูก ซึ่งที่นี่เป็น 1 ในพื้นที่นำร่อง โดย ศศิธร เมืองโคตร พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ดอนนางหงส์ เล่าว่า กว่าจะดีขึ้นได้อย่างในปัจจุบันต้องผ่านอุปสรรค 2 ด้าน คือ
1.ความเชื่อผิดๆ ดั้งเดิม ที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เช่น "กินนมแม่ต้องกินน้ำตาม" คนโบราณเชื่อว่ากินนมแม่กับน้ำทำให้ทารกขับถ่ายดี ตาใส ตัวไม่เหลือง แต่ "ข้อเท็จจริง" การดื่มนมแม่ตามด้วยน้ำ น้ำจะไปทำให้สารอาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกเจือจางลง หรือ "ให้อาหารอื่นเสริมกับนมแม่ตั้งแต่ยัง ไม่ถึง 6 เดือน" อาทิ ผ่านไป 1 เดือนแรกหลังคลอดมีการนำกล้วยบ้าง ข้าวบ้างมาบดให้ทารกรับประทาน "ข้อเท็จจริง" ช่วง 6 เดือนแรกของทารก ระบบย่อยอาหารยังไม่พร้อมรับอาหาร ประเภทอื่นๆ นอกจากนมแม่
"เด็กเกิดมากระเพาะอาหารเล็กนิดเดียว ไม่สามารถย่อยอาหารที่มีขนาดใหญ่ได้ ทุกอย่างจะเริ่มต้นได้เมื่อพ้น 6 เดือนไปแล้ว เพราะลำไส้เด็กเหมาะกับย่อยนมแม่ ถ้าให้เด็กรับประทานอย่างอื่นก่อนพ้น 6 เดือนแรก เด็กจะมีปัญหาท้องอืด ลำไส้อุดตัน บางคน ให้กินอาหารเสริมตั้งแต่ 1 เดือน บางคนคลอดได้ 1 อาทิตย์ ก็ให้กินข้าว เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เราต้องลงพื้นที่จริงๆ ทำความเข้าใจว่าแบบนี้ทำไม่ได้" ศศิธร กล่าวกับอีกด้านหนึ่ง 2.ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อแม่ต้องไปทำงานไกลบ้านจึงมองว่าไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ "เรื่องนี้ อาจเป็นความจริงในอดีต แต่ปัจจุบันข้อจำกัดดังกล่าวลดลงไปมากด้วยความก้าวหน้า ด้านกิจการขนส่ง (โลจิสติกส์-Logistic)" มีผู้ให้บริการรับ-ส่งพัสดุเกิดขึ้นมากมายหลายเจ้า และค่าขนส่งก็ไม่แพงเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องเสียไปกับนมผงในแต่ละเดือน
ศศิธร เล่าต่อไปว่า ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มแนวทางสนับสนุนให้แม่รีดนมจากเต้าแล้วส่งกลับมาให้ลูกที่บ้านเกิด ต้องศึกษาก่อนว่าจะเก็บรักษาอย่างไรได้บ้าง เช่น น้ำนมจากเต้าสดๆ หากไม่มีกระบวนการเก็บรักษาจะอยู่ได้เพียง 24 ชั่วโมง ถ้าเก็บในตู้เย็นทั่วๆ ไป จะเก็บได้ 3 วัน ถ้าเป็นช่องแช่แข็งจะเก็บได้ 7 วัน หรือหากเป็นตู้แช่แข็งที่ผลิตมาเป็นการเฉพาะอย่างตู้แช่ไอศกรีม อาจเก็บได้ถึงหลักเดือนเลยทีเดียว
"ก่อนที่แม่จะไปทำงาน เขารู้อยู่แล้วว่าลูกเขากินวันหนึ่งปริมาณเท่าไหร่ เราสอนวิธีการเก็บ วิธีการแพ็ก วิธีการแช่แข็ง การเดินทาง ทุกวันนี้ 1 วันถึง ขนส่งจากกรุงเทพฯมา ก็ภายใน 1 วัน เพราะเราใส่น้ำแข็งแห้ง มันก็ไม่ละลาย อย่างฝากรถทัวร์มาส่ง ฝากเย็นนี้พรุ่งนี้เช้าก็ถึงแล้ว หรือถ้าไปทำงานที่มุกดาหาร (จังหวัดทางใต้ติดกับนครพนม) ฝากรถตู้ส่ง 1 ชั่วโมงถึง บางคนอยู่ขอนแก่นก็ฝากรถทัวร์ส่ง 4 ชั่วโมงถึง แล้วตายายก็มารับ" ศศิธร ระบุจากตัวอย่างเพียง 1 ราย ในช่วงแรกๆ ที่ริเริ่มทำโครงการนี้เมื่อปี 2557 ณ ปัจจุบัน มีคุณแม่ลูกอ่อนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น 1 ในวาระสำคัญของ อบต.ดอนนางหงส์ ถึงกระนั้น ศศิธร ก็ยอมรับว่า "ยังมีข้อจำกัด ในบางบ้าน เช่น แม่ที่ไปทำงานแล้วเช่าห้องพัก อยู่ซึ่งในห้องไม่มีตู้เย็น" หน่วยงานภาครัฐจะไปซื้อให้คงทำไม่ได้ หรือจะให้คุณแม่ซื้อเองก็เป็นภาระ ในจุดนี้จึงยังคงเป็นปัญหา
ขณะที่ นันทวัน ยันตะดิลก ผู้จัดการโครงการสร้างคนไทยสุขภาพดีด้วยนมแม่และการบริโภคผักผลไม้ กล่าวว่า เหตุที่เลือกทำโครงการนมแม่เพราะเป็นภาคต่อจากการทำงานให้ความรู้ด้านโรคเอดส์ (HIV-AIDS) ที่เคยทำมาตั้งแต่เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน ซึ่งโรคเอดส์นั้นนอกจากจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้วยังติดต่อผ่านแม่สู่ลูก งานให้ความรู้กับประชาชนเพื่อป้องกันโรคเอดส์จึงเท่ากับการป้องกันไม่ให้เด็กคนหนึ่งต้องเกิดและเติบโตมาในสภาพเจ็บไข้ได้ป่วย แน่นอนงานให้ความรู้เพื่อส่งเสริมการให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรกก็มีเป้าหมายเช่นเดียวกัน
"เราต้องให้ความรู้กับแม่ด้วยว่าทำไม 6 เดือนแรก อย่าให้กินนมผง เขากำลังจะสร้างเซลล์สมองซึ่งนมผงไม่สามารถทำได้ โฆษณามันไม่เป็นจริงไม่เช่นนั้นคงไม่ทำกฎหมายห้ามโฆษณา ส่วนนี้มันได้ผลแต่ต้องค่อยๆ กระจายเพราะต้องไปต่อสู้กับความเชื่อเดิมๆ ของปู่ย่าตายายด้วย สมัยหนึ่งถูกฝังหัวว่านมผงดีเท่านมแม่ เราถามคนอายุ 15-60 ปี มีประมาณ 15-20% ที่เชื่อว่ามันพอกัน ใช้แทนกันได้" นันทวัน ระบุ
ผู้จัดการโครงการสร้างคนไทยสุขภาพดีด้วยนมแม่ฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากที่ อบต.ดอนนางหงส์ แล้วยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีโครงการแบบเดียวกันโดย "เปลี่ยนวิธีคิดจากตำบลนมแม่เป็นตำบลปลอดนมผง" ซึ่งแม้จะไม่สามารถไปบังคับห้างค้าปลีกหรือร้านสะดวกซื้อของทุนใหญ่ แต่ในสังคมชนบทยังมีร้านโชห่วยอยู่มาก "เจ้าของ โชห่วยก็เป็นคนในชุมชน การขอความร่วมมือจึงเป็นไปได้" เช่น เข้าไปทำความเข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่ควรจำหน่ายนมผงให้เด็กเล็ก ควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับแม่และผู้สูงอายุที่เลี้ยงทารกว่าเหตุใดจึงไม่ควรให้นมผงในทารก 6 เดือนแรก
ส่วนปัญหาเรื่องการจัดเก็บและการขนส่งที่เป็นข้อจำกัดของแม่ลูกอ่อนข้างต้น ในส่วนปลายทาง รพ.สต. อาจช่วยได้ เพราะปกติก็มีสถานที่เก็บวัคซีนอยู่แล้ว แต่ใน "ส่วนต้นทางอาจต้องได้รับการส่งเสริมมากขึ้น เช่น บริษัทห้างร้านต่างๆ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการห้องเช่าควรมีตู้เย็นสำหรับเก็บนมแม่" เมื่อแม่รีดนมใส่ถุงแล้วก็ใส่ตู้แช่ไว้เพื่อจัดคิวส่งกลับไปให้ทารกในบ้านเกิด
"เราทำงานกับแม่คนเดียวไม่ได้ ต้องกับพ่อ กับครอบครัว กับสถานประกอบการ เรามีโอกาส เมื่อไหร่เราจะพูด อย่าง อบต.เมื่อก่อนอาจไม่ค่อยสนใจ ฉันไม่เกี่ยว คุณเป็นคนในนี้แต่ไปทำงานข้างนอก ชีวิตของคุณฉันไม่เกี่ยว แต่ตอนนี้เริ่มตื่นตัว เพราะเราบอกว่าคนเกิดน้อย แล้วเราก็อยาก ให้คนที่เกิดน้อยนี้แข็งแรงพอที่จะดูแลคนรุ่นเก่าได้ ต่อไปจะกลายเป็นคนสูงอายุ 30-50% เด็กเกิดน้อยแล้วยังไม่มีคุณภาพอีก สังคมมันก็จะแย่" นันทวัน ฝากทิ้งท้ายสรรพคุณของนมแม่นอกจากจะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองของทารกแล้ว ยังลดโอกาสการเกิดโรคท้องเสีย โรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ซึ่งการลดโอกาสเกิดโรคเหล่านี้นมผง ไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโครงการข้างต้นนี้เป็นเพียงหน่วยเล็กๆ ทำได้ครั้งละเพียงไม่กี่พื้นที่ แต่หากภาครัฐส่วนกลางในฐานะผู้กำหนดนโยบายเห็นความสำคัญด้วยก็เชื่อว่าจะสามารถขยายผลได้ทั่วทั้งประเทศ
ไหนๆ จะมีการเลือกตั้งแล้ว…บรรดาพรรคการเมืองที่ชูจุดขายด้านสวัสดิการสังคม หากนำเรื่องนี้ไปใส่ไว้ในนโยบายที่พรรคจะทำถ้าชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลก็จะดี ไม่น้อย
ขนาดเท่าไรก็มีนมให้ลูกดื่มได้เหมือนกัน – ศศิธร เมืองโคตร พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ดอนนางหงส์ จ.นครพนม กล่าวถึงกรณีมีผู้หญิงหลายคนเข้าใจว่าตนเองมีขนาดหน้าอกเล็กจึงไม่สามารถให้นมลูกได้ ทำให้ไปซื้อนมผงมาให้ลูกรับประทานแทน ทั้งที่ทารกเพิ่งอายุ 0-6 เดือน ซึ่งยังไม่มีอาหารอื่นใดที่เหมาะสมไปกว่านมแม่ ว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อ ที่ผิด จริงๆ แล้วขนาดหน้าอกไม่เกี่ยวข้องกับการมีหรือไม่มีน้ำนมแต่อย่างใด
"หญิงตั้งครรภ์วันแรกอาจจะไม่มีน้ำนม เขาก็จะคิดและเชื่อว่าอย่างไรมันก็ไม่มี พอจิตใต้สำนึกสั่งว่าไม่มีก็ไม่ยอมให้ลูกดูดนม ก็จะไม่เกิดการกระตุ้นการหลั่งน้ำนม น้ำนมก็จะหายไป เราย้ำกับคนที่มาฝากครรภ์ทุกคนว่าขนาดของทรวงอก ขนาดของเต้านมไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนม เราเคยเจอหญิง ที่หน้าอกแบนๆ แต่มีน้ำนมเลี้ยงลูกได้ถึงเกือบ 2 ปี" ศศิธร ระบุ