‘ธรรมนำสุข’ หนทางแก้ทุกข์ด้วยตนเอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจาก facebook.com/sookcenter


\'ธรรมนำสุข\' หนทางแก้ทุกข์ด้วยตนเอง thaihealth


สำหรับมนุษย์ทุกคนแล้ว ไม่ว่าใครก็ต้องเคยผจญกับ "ความทุกข์" ด้วยกันทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าใครจะทุกข์มาก ทุกข์น้อยเท่านั้น โดยความคิดถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ดังนั้นเมื่อเจอกับความทุกข์ เราควรหาทางฝังกลบมัน อย่าปล่อยให้ลุกลาม แม้จะไม่สามารถกำจัดทุกข์ได้อย่างถาวร แต่เราต้องเรียนรู้และรู้จักที่จะคิดให้เป็น ก็จะช่วยเติมเต็มความสุขในชีวิตของเราได้


เพื่อสร้างปัญญาให้เท่าทันความคิด ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม "ธรรมนำสุข" ให้มาร่วมปรับมุมมองความคิดกับวิถีแห่งธรรมอันนำมาซึ่งความสุขที่เที่ยงแท้ และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายๆ


คุณอ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ ศิลปินและนักแสดงชื่อดัง ผู้มีหลักการดำเนินชีวิตโดยใช้ธรรมะเป็นที่ตั้ง กล่าวว่า ในความเป็นจริงเราบอกตนเองไม่ให้เราทุกข์นั้นเป็นเรื่องยาก บางคนบอกว่าเมื่อทุกข์เกิดขึ้นให้มองโลกด้านบวก แต่อ้อมเลือกที่จะมองโลกตามความเป็นจริงว่า ทุกข์ก็คือทุกข์ แล้วจึงหาวิธีจัดการกับความทุกข์ด้วยการย้อนกลับมามองถึงต้นเหตุของความทุกข์ เช่น หากทุกข์เกิดที่ใจก็ต้องปรับแก้ที่ใจ แต่หากเกิดจากปัจจัยภายนอก เราก็ต้องปรับที่ใจก่อน และเมื่อมีสติเป็นตัวรู้ มีสติก็ต้องรู้ทัน ปัญญาก็เกิด โดยปัญญานี่แหละจะคอยบอกเราว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งอ้อมไม่ได้บอกว่าการเข้าวัดสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยที่สุดเราจะมองปัญหาด้วยความเข้าใจว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป จะคลี่คลายในที่สุด เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็จะไม่จมกับความทุกข์


\'ธรรมนำสุข\' หนทางแก้ทุกข์ด้วยตนเอง thaihealth


แท้จริงแล้ว ความทุกข์อยู่ที่ใจ คนเราจะดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่คิด อยู่ที่ใจ มีความสุข ไม่มีความสุข อยู่ที่คิด อยู่ที่ใจ ยกตัวอย่างเช่น เสียงรบกวนต่างๆ บนเครื่องบิน มีใครเคยรำคาญเสียงเด็กที่ร้องบนเครื่องบินบ้างไหม บางคนอาจคิดว่าห้องโดยสารแคบๆ แบบนี้ พ่อแม่มันจะเอาลูกขึ้นมาทำไม บางคนอาจคิดว่าทำไมพ่อแม่ไม่รู้จักสั่งสอนลูกให้เงียบ ซึ่งในความจริงแล้ว เด็กเล็กอยากร้อง มันก็ต้องร้อง และที่มันร้องก็เกิดจากความทุกข์ ส่วนพ่อแม่เด็กก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ทุกข์ เพราะต้องกลัวว่าคนจะด่าลูก ด่าตนเอง แต่ก็ไม่สามารถห้ามเด็กได้ ซึ่งแปลกไหมที่เรารำคาญเสียงเด็ก แต่กับสิ่งที่เราอยากรู้ เสียงที่คนคุยกัน นินทาในเรื่องที่สนใจ เรากลับไม่รำคาญ ปัญหาเสียงเหมือนกัน แต่ใจไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอยู่ที่ท่านเลือกจะวางใจ เสียงมันก็เป็นแค่เสียง พูดเหมือนกัน แค่เรื่องที่ต่างกัน หรือพูดที่ถูกใจเราหรือไม่ถูกใจเราเท่านั้น นั่นแหละความทุกข์ก็เกิดขึ้นแล้ว อย่างที่บอก ทุกอย่างอยู่ที่ใจ


ทั้งนี้ เมื่อมีความทุกข์ ทุกคนมีทางรอดโดยการใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เรารอดได้ ถ้าเราเชื่อและเรามีปัญญา เมื่อเรามีศรัทธาก็จะทำให้เรามีวินัย ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ เราก็จะเกิดความสุขใจ ที่สำคัญต้องหยุดมองความไม่ดีของคนอื่น ถ้าเราหยุดมองความไม่ดีของคนอื่น และมองมาที่ตัวเราบ่อยๆ อ้อมว่าสิ่งหนึ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ เราหยุดสร้างความไม่ดีได้ สร้างใจที่ไม่ดีได้ และถ้าเราไม่เพิ่มขยะในใจเรา ถึงเราจะเอาอะไรออกไปมากไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ไม่เพิ่มปริมาณความทุกข์ให้กับตนเอง


ด้าน อาจารย์กอบชัย ปฐมโพธิภัทรสุข วิทยากรจากมูลนิธิหมอชาวบ้าน กล่าวว่า เมื่อเกิดทุกข์มากๆ ผลที่ตามมาไม่ได้มีต่อจิตใจหรืออารมณ์เท่านั้น แต่จะมีผลกระทบต่อร่างกายและความเป็นอยู่ทุกอย่างของเราด้วย เช่น คนส่วนใหญ่จะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือทำงานไม่ได้ เพราะจิตใจว้าวุ่น ถ้าเรารู้สึกว่าทุกข์มาก กลุ้มมาก ควรจะขจัดออกไปให้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้


\'ธรรมนำสุข\' หนทางแก้ทุกข์ด้วยตนเอง thaihealth


โดยสามารถล้างความทุกข์ด้วยวิถีแห่งธรรม 4 ขั้นตอน ดังนี้


1. รู้จักความรู้สึกตัวบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ (สติสัมปชัญญะ) โดยผ่านกระบวนการรับรู้ภายใต้ความรู้สึกที่กายก่อน (รูป) ไม่ใช่รู้นามก่อน (เวทนา จิต ธรรม) ด้วยการอาศัยกฎ 3 ข้อเทียบเคียง คือ หนึ่ง ระลึกรู้ รับรู้ ความรู้สึกทั้งกาย รู้หลวมๆ ไม่เจาะจงรู้อวัยวะเพียงบางส่วน สอง รับรู้โดยไม่ตีความหมาย ไม่เทียบเคียง ไม่ให้ความหมาย (พูดหรือแสดงข้างใน) ต่อความรู้สึกตัวบริสุทธิ์…นี้ทั้งสิ้น เช่น อันนี้คือจิตประภัสสร อันนี้คือจิตเดิมแท้ และสาม รับรู้โดยไม่พูดกำกับอิริยาบถทั้งในใจและออกเสียงทั้งสิ้น (เช่น ก้าวซ้าย ก้าวขวา) และทุกๆ กรณี


2. ปลุกความรู้สึกตัวเองผ่านอิริยาบถทั้ง 4 ในชีวิตประจำวัน เมื่อเข้าใจสติบริสุทธิ์นี้แล้วให้ปลุกเขาบ่อยๆ โดยนำไปผูกกับอิริยาบถทั้ง 4 ในชีวิตประจำวัน คือ เมื่อเดินก็รับรู้ ความรู้สึกตัวบริสุทธิ์ เคลื่อนไหวใดๆ ก็ให้รับรู้ความรู้สึกตัว


3. เมื่อเป็นอัตโนมัติจะเริ่มรู้เป็น เห็นคิด เห็นตัวตน คือเมื่อรู้สึก รู้เห็น มันจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ คือเห็นนามธรรม เห็นอารมณ์ เห็นความคิด เห็นอารมณ์ของท่านเองได้โดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อเราขยับกาย เขาจะรู้สึกตัว เมื่อเราคิดไปฟุ้งไป สติเห็นเขาจะรู้สึกตัวและออกจากความคิดนั้นเองได้โดยไม่ต้องไปทำไปสั่งใดๆ เลย


4. พัฒนาปัญญาขั้นรู้ธรรม (ไม่ใช่รู้จำ) คือสุดท้ายทุกอย่างเรารู้เห็น รู้เป็น รู้ตัวเอง ก็จะเป็นการพัฒนาปัญญาขั้นรู้ธรรมอัตโนมัติ เมื่อปฏิบัติ 4 ขั้นตอนนี้แล้วก็จะทำให้คนไม่คิดฟุ้งซ่าน เป็นการส่งเสริมให้มีสมาธิดีขึ้น เมื่อความคิดเราฟุ้งซ่านน้อย เราจะเป็นคนที่มีความทุกข์น้อยลงโดยอัตโนมัติ


นางปุญชรัลมิ์ ชวัชรังสรรค์ อายุ 63 ปี แม่บ้าน บอกว่า รู้สึกว่าดีที่ได้มาร่วมกิจกรรม และได้ลองปฏิบัติธรรมที่ง่ายมากๆ โดยไม่ต้องเข้าวัด ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องมีเครื่องแบบ ทำตอนไหนก็ได้ และก็เป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย มันก็เหมาะกับคนยุคไอทียุคดิจิตอลแบบนี้ ซึ่งหากได้ฝึกบ่อยๆ มันก็จะช่วยตัดความคิดที่ไม่ดี เหมือนกับเราติดเบรกทางอารมณ์เอาไว้ เป็นการหยุดคิดให้มีสติอยู่กับตัวมากขึ้น ก็จะช่วยลดปัญหาอะไรที่ไม่ดีออกไป


นางสุพร โคลัยพละกิจ อายุ 63 ปี แม่บ้าน บอกว่า กิจกรรมนี้ทำให้เราได้ความรู้ มันช่วยให้เราได้เปลี่ยนความคิด ทำให้เกิดความริเริ่มใหม่ๆ มากขึ้น ที่สำคัญเลยก็คือในเรื่องของจิตใจ หากความทุกข์ที่เราเคยมีมา เราก็สามารถเปลี่ยนมุมมองให้กลายเป็นความสุขได้ อย่าไปจมปลักกับมัน เพราะที่สุดแล้วความสุขของเราก็อยู่ใกล้ๆ ในใจของเรานั่นเอง


นางรัชนี ปรักกมกุล อายุ 69 ปี แม่บ้าน ผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า รู้สึกดีที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการดับความทุกข์ในใจ ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ต้องคำนึงว่าถูกหรือผิด ขอแค่ให้เราเกิดความสบายใจและทำด้วยใจบริสุทธิ์ก็พอแล้ว


ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารจาก SOOK Activity ของ สสส. ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค facebook.com/sookcenter และ เว็บไซต์ thaihealthcenter.org

Shares:
QR Code :
QR Code