ท้องถิ่น..ทำเองได้ ไม่เลี้ยงไข้..น้ำท่วม
ต.อุทัยเก่า อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ก่อนหน้านี้มีปัญหาประสบภัยน้ำท่วมทุกปี…แต่มาปีนี้ ทั้งที่น้ำท่วมใหญ่ พื้นที่อื่นๆท่วมกันหมด ที่นี้น้ำกลับไม่ท่วมนั่นเป็นเพราะชาวบ้าน 20 ตำบล ในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำแม่วงศ์ และลุ่มน้ำทับเสลา เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดอุทัยธานี, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, ชัยนาท ได้รวมตั้งเป็นภาคีเครือข่ายจัดการระบบป้องกันน้ำท่วมด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ. จับมือกันแก้ปัญหาน้ำท่วม เมื่อก่อนนี้พื้นที่แถบนี้น้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะในเดือนกันยายน-ตุลาคม ฝนจะตกหนักในป่าห้วยขาแข้ง น้ำป่าจะไหลหลากลงมาจนล้นอ่างเก็บน้ำระบำ อ.ทับเสลา จ.อุทัยธานี เข้ามาท่วมบ้านเรือนเรือกสวนไร่นา สร้างความเสียหายเป็นประจำทุกปี
“เนื่องจากพื้นที่แถบนี้มีความลาดชันสูง พื้นที่ราบลุ่มกับพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งมีความสูงแตกต่างกันถึง 20 เมตร น้ำที่หลากลงมาจึงแรง สร้างความเสียหายได้มาก พวกชาวบ้านจึงต้องคิดหาหนทางแก้ปัญหา เคยพยายามขอความช่วยเหลือของบประมาณจากทางราชการแล้ว ทุกอย่างก็ได้แต่รอ รอกันแบบไม่มีความหวัง 3 ปี ก็ยังไม่มีคำตอบ งบประมาณไม่เคยมาถึงเลย” นายธาดา อำพิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า จ.อุทัยธานี กล่าว
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า ฟื้นความหลังให้ฟังซึ่งทำให้รู้ว่า หลังจากจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ตำบลสุขภาวะชุมชน สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. การจะแก้ปัญหาน้ำท่วม จะหวังพึ่งรอความช่วยเหลือจากราชการ การแก้ปัญหาแบบยั่งยืนจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะความต้องการของราชการกับชาวบ้านต่างกัน
“น้ำท่วมมา ภัยแล้งมา ราชการยิ้ม งบผู้ว่าฯ ที่เอามาละเลงน้ำหายไปหมด ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ปีหน้าน้ำก็ท่วมอีกเหมือนเดิม เอางบมาใช้ได้อีก แถมตอนน้ำท่วมอะไรที่ไม่พัง ก็เอารถมาขุดทำให้พัง เพื่อจะได้ทำเรื่องของบประมาณมาสร้างใหม่ เป็นอย่างนี้มาตลอด เหมือนไม่ต้องการให้ปัญหาหมดไป” ฝ่ายหนึ่งต้องการ เลี้ยงไข้น้ำท่วม ฝ่ายชาวบ้านต้องการให้ไข้น้ำท่วมหายขาด
ด้วยเหตุนี้ทาง อบต.อุทัยเก่า เลยต้องแก้ปัญหาด้วยศักยภาพของตัวเอง “การจะแก้ปัญหา น้ำท่วมให้หมดไป ไม่เพียงชาวบ้านในตำบลจะต้องสามัคคีร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เราจะต้องจับมือสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับตำบลอื่นด้วยถึงจะสำเร็จ เพราะพื้นที่น้ำท่วมนั้นกว้างมากเกินกำลัง อบต.ใด อบต.หนึ่งจะทำได้ จึงต้องจับมือทำงานร่วมกัน”
วิธีการก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่จดจำเหตุการณ์น้ำท่วมแต่ละปีให้ได้ว่า น้ำท่วม น้ำมาทางไหน ล้นตลิ่งตรงไหน หลากไหลไปทางไหน มีอะไรตรงไหนที่กีดขวางทางน้ำไหลบ้างรู้ และจำไว้ ตอนนี้น้ำท่วมไม่ต้องไปทำอะไร รอให้น้ำยุบน้ำลดก่อนค่อยทำ…ไม่ใช่มาขยันทำกันตอนน้ำท่วม ทำไปก็เสียเงินเปล่า ได้ประโยชน์ไม่คุ้มเงิน จากประสบการณ์ที่ทำมาพบว่า การก่อสร้างหลายอย่าง แม้กระทั่งคลองชลประทานเองก็ยังเป็นตัวปัญหา สร้างคันคลองกีดขวางทางระบายน้ำตามธรรมชาติ
“พอเราเจอปัญหา น้ำลดเราก็จัดการแก้ไข ทำให้น้ำไหลระบายได้สะดวก คลองไหนเล็กแคบ อย่างคลองทับเสลาที่ผ่านกลาง ต.อุทัยเก่า เดิมกว้าง 60 เมตร แต่กรมชลประทานไม่ดูแล ปล่อยให้ชาวบ้านบุกรุกเข้าไป จนคลองเล็กแคบเหลือ 30 เมตร เราเลยต้องใช้วิธีให้ชลประทานใช้อำนาจตามกฎหมาย มาชี้เส้นแนวเขตของชลประทานให้ชาวบ้านรื้อถอนออกไปไม่อย่างนั้นจะดำเนินคดี เมื่อทางการเอาจริงชาวบ้านก็ยอมรับ เราก็เลยขุดลอกใหม่ให้กว้าง 60 เมตรเหมือนเดิม ดินที่ขุดขึ้นมาก็เอามาทำคันดินกั้นน้ำให้สูงขึ้นช่วยได้ทั้งป้องกันน้ำท่วม และระบายน้ำได้เร็วไปพร้อมกันในตัว ตรงไหนเป็นโค้งลำน้ำ ฤดูน้ำหลากมาเร็วกัดเซาะเสียหาย ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เอาทรายผสมกับปูนซีเมนต์ใส่กระสอบปุ๋ยไปวางเรียงเป็นพนังกั้นน้ำ มันก็เลยแข็งเหมือนเอาหินก้อนใหญ่มาเรียงกั้นกันน้ำเซาะ ในราคาถูกกว่าซื้อหินมาวางเรียง และดีกว่าใช้กระสอบทราย ที่นานๆ ไป น้ำเซาะทรายหายหมด” นายธาดา บอก
นายธาดา กล่าวต่อว่า ตอนนี้พื้นที่ 20 ตำบล ขุดสระแก้มลิง ไปแล้วร่วม 50,000 แห่งแล้วไม่ เพียงเท่านั้น ภาคีเครือข่ายชาวบ้านป้องกันน้ำท่วมที่นี้ ยังมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบอีกต่างหาก ฝนตกน้ำท่วม น้ำจะล้นอ่างเก็บน้ำระบำทุกปีฉะนั้น ก่อนฤดูน้ำหลากจากป่าห้วยขาแข้งจะมาถึง จะมีการประสานให้เจ้าหน้าที่อ่างเก็บน้ำระบายน้ำออกมาก่อน 50 ล้านคิว เพื่อเตรียมกักเก็บน้ำรอบใหม่ ก่อนจะระบายก็มีการแจ้งเตือนให้ อบต.เครือข่ายที่อยู่ในที่ต่ำได้รับรู้ เตรียมตัว พร้อมกับเป็นการซ้อมมือ ดูจุดอ่อนจุดแข็งของระบบป้องกันน้ำท่วมก่อนที่ฤดูฝนน้ำท่วมของจริงจะมาถึง และเพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่กับธรรมชาติที่เปลี่ยนไปอย่างมีความสุข
ฤดูทำนาที่ เคยปลูกเก็บเกี่ยวกันในเดือน ก.ย.-ต.ค. ก็แนะนำชาวนาให้ปรับเปลี่ยนเวลาเพาะปลูกให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึงเปลี่ยนมาเริ่มปลูกใน ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ถึงจะเป็นฤดูแล้งก็ไม่มีปัญหาเพราะมีทางอ่างเก็บน้ำระบำช่วยจ่ายน้ำให้ แล้วไหนยังจะมีแก้มลิงเก็บน้ำอยู่ในที่นาอีกต่างหาก การปลูกในหน้าแล้งเลยไม่มีปัญหา ได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวในเดือน ส.ค.-ก.ย. ก่อนน้ำจะท่วมพอดี ผลผลิตที่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เสียหายเหมือนปลูกแบบเก่าแล้วต้องมาแช่น้ำท่วม นี่เป็นผลงานแก้ปัญหาระดับ อบต.คิด
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ