ท้องถิ่นเดินหน้าอนุรักษ์ประเพณี รณรงค์แข่งเรือปลอดเหล้า
“การแข่งเรือ” นับว่าเป็นประเพณีที่สำคัญที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ซึ่งเป็นกิจกรรมรื่นเริงที่ควบคู่ไปกับงานบุญ แต่ปัจจุบันพบว่างานดังกล่าวเต็มไปด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขต่างๆ จากงานบุญจึงกลายเป็นงานบาป รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน และสร้างค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์อีกด้วย
จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ได้ร่วมกับเจ้าภาพจัดงานในพื้นที่ช่วยกันรณรงค์แข่งเรือปลอดเหล้า เพื่อสร้างค่านิยมลดละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน เพื่อเป็นการลดพฤติกรรมเสี่ยง อีกทั้งในปีนี้ยังร่วมกับสถานีโทรทัศน์ thai pbs จัดถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านรายการศึกชิงจ้าวสายน้ำ จำนวนนี้ 16 สนามขณะที่มีพื้นที่เครือข่ายเข้าร่วมจัดงานแข่งเรือปลอดเหล้ากว่า 40 พื้นที่ทั่วประเทศ
นายเผชิญณ์ สมทรัพย์ นายกเทศมนตรีตำบลเมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า สำหรับประเพณีการแข่งเรือในแม่น้ำมูลมีมาหลายสิบปีแล้ว แต่เพิ่งร่วมรณรงค์แข่งเรือปลอดเหล้ากับทาง สสส.และ สคล. รวมถึงมีการถ่ายทอดสดออกทาง thai pbs ปีนี้เป็นปีที่ 2 โดยการนำเยาวชนซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเข้ามาร่วมให้มากที่สุดเพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงในการเชิญชวนพ่อแม่ ลุง ป้า น้า อา ลด ละ เลิกเหล้า หลังจากได้มีการรณรงค์อย่างจริงจัง ทำให้วิถีชีวิตแบบเดิมๆของชาวอีสานเปลี่ยนไป จากที่เคยนิยมดื่มเหล้าในงานประเพณีต่างๆ เพื่อสร้างความสนุกสนาน ครื้นเครง หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยการลดปริมาณการดื่มลงหรือเลิกดื่มไปเลยก็มี นอกจากนี้ในช่วงปีที่ผ่านมาในพื้นที่ ได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนจากโรงเรียนในพื้นที่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นนักพากย์เรือเยาวชน ซึ่งสามารถพากย์ได้ถึง 3 ภาษา คือ ไทยอังกฤษ และภาษาท้องถิ่น ซึ่งสร้างความสนใจให้กับผู้ที่มาชมการแข่งเรือได้มาก
นายกเทศมนตรีตำบลเมืองคง กล่าวอีกว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มาร่วมงานในปีที่ผ่านมาพบว่า 98% เห็นด้วยและพร้อมจะให้ความร่วมมือกับการแข่งเรือปลอดเหล้า อีกทั้งยังขอความร่วมมือไปยังร้านค้าต่างๆ ทั้งในและรอบนอกบริเวณการจัดงานห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
ด้านนายนรานนท์ เพชรสุวรรณ กรรมการจัดงานประเพณีแห่พระแข่งเรือ “ขึ้นโขนชิงธง” อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า การแข่งเรือปลอดเหล้านอกจากจะเป็นการส่งเสริมกีฬาพื้นบ้านของคนไทยแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่ตลอดไปอีกด้วย เช่นเดียวกับประเพณีแห่พระแข่งเรือ “ขึ้นโขนชิงธง” ที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวอ.หลังสวน ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมานานกว่า 168 ปีแล้ว โดยการแข่งขันเรือยาวแบบที่การตัดสินแพ้ชนะอยู่ที่นายหัวเรือจะต้องปืนขึ้นไปที่ปลายโขนเรือให้สุด เพื่อไปคว้าธงที่เรือตัดสินที่เส้นชัยให้ได้ ถ้านายหัวเรือคว้าธงไปได้ถือว่าเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าหากว่าคว้าได้คนละท่อนถือว่าเสมอกัน ทั้งนี้ในสนามลุ่มแม่น้ำหลังสวนนั้นมีการแข่งขันเรือ 4 ประเภท คือประเภทผู้นำหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทเรือนักเรียน ประเภทเรือฝีพายท้องถิ่นจังหวัดชุมพร และประเภทโอเพ่นที่เปิดรับให้ผู้ที่สนใจทั่วประเทศลงแข่งขันได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องสังกัดใน 14 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น
“ก่อนที่จะมีการรณรงค์แข่งเรือปลอดเหล้า มักพบคนเมาเหล้าเดินล้มลุกคลุกคลานอยู่ภายในงานเต็มไปหมด ทำให้มีการทะเลาะวิวาทกัน จนกระทั่งถึงขั้นฆ่ากันตาย แต่หลังจากทำการรณรงค์มากว่า 3 ปีทำให้คนดื่มเหล้าน้อยลง การทะเลาะวิวาทลดลงหรือแทบไม่มีเลย” นายนรานนท์ กล่าว
ส่วน นายสุนทร เข็มนาค นายกเทศมนตรีตำบลหนองแค อ.หนองแค จ.สระบุรี กล่าวว่า นับเป็นปีแรกที่จังหวัดได้จัดประเพณีแข่งเรือปลอดเหล้าโดยจะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ผ่านไปยังพ่อค้าแม่ค้า หรือประชาชนที่เข้าร่วมงาน ห้ามขาย ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเข้ามาในบริเวณงานโดยเด็ดขาด และปีนี้ทางผู้จัดงานก็จะไม่รับสปอนเซอร์จากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามจากบทเรียนของงานแข่งเรือครั้งที่ผ่านๆ มาทุกปีทำให้ทราบว่าประชาชนที่มาชมการแข่งเรือต่างกังวลและไม่สบายใจหากมีผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ภายในบริเวณงานด้วย เพราะนอกจากจะสร้างความรำคาญแล้ว ยังก่อความวุ่นวาย สร้างปัญหา ทำให้บรรยากาศการแข่งเรือหมดความสนุกสนาน
“ดังนั้นในการแข่งเรือปีนี้ทางจังหวัดสระบุรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยสืบสานประเพณีที่ดีงามควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยเฉพาะเป็นการช่วยรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ปัญหาทะเลาะวิวาท ที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างแน่นอน อีกทั้งในปีนี้ถือเป็นปีที่พิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะจัดแข่งเรือปลอดเหล้าแล้ว ยังเป็นการจัดกิจกรรมแข่งเรือเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค.2554 อีกด้วย” นายกเทศมนตรีตำบลหนองแค กล่าว
นับเป็นเรื่องดีที่ผู้นำท้องถิ่นให้ความสำคัญกับกีฬาระดับชุมชน อย่างการแข่งเรือยาวประเพณีให้ปลอดจากภัยน้ำเมา เพื่อปกป้องประเพณีอันดีงามของแต่ละท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานและเปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ ส่งต่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ