ทำไมคนเราถึงข้อเข่าเสื่อม?
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th
‘หัวเข่า’ เป็นอวัยวะในร่างกายที่เหมือนกับการปิดทองหลังพระ เพราะไม่ได้เห็นการใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เหมือนปาก นิ้ว มือ หรือเท้า
จนบางครั้งเราก็เกือบลืมความสำคัญของเจ้าอวัยวะชิ้นนี้ไป จนกระทั่งจู่ๆ ข้อเข่าก็เกิดปวดบวมร้อน เหยียดได้ไม่สุด นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนจากอวัยวะชิ้นนี้ว่ากำลังต้องการความช่วยเหลือ
รองศาสตราจารย์ นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการกองทุน สสส. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ข้อ และวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้อธิบายว่า ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคด้านข้ออันดับ 1 ของคนไทย มักเกิดในช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน ก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการ ข้อเข้าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ เพราะ ข้อเข่า เป็นส่วนที่ถูกใช้งานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง กระโดด ลุก นั่ง ข้อเข่าล้วนต้องรับน้ำหนักตัวของคนๆ นั้นและแรงกดกระแทกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสึกหรอ และการสึกหรอที่กระดูกรอบๆ ข้อเข่านี้เอง ที่ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อเข่า
ข้อเข่าเสื่อมสามารถส่งต่อทางกรรมพันธุ์ได้ แม้จะไม่เต็ม 100% แต่หากคุณยาย คุณย่าเป็นก็อาจส่งผลให้ลูกหลานเป็นได้เร็วกว่าปกติ
อาการบอกโรคข้อเข่าเสื่อม
ข้อฝืดขณะเคลื่อนไหว อาจมีความรู้สึกเจ็บบ้าง
รู้สึกมีเสียงเสียดสีจากภายในข้อ แต่ไม่ใช่เสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับ หากเป็นเสียงที่หูได้ยินเวลาขยับนั่นอาจบอกว่ากล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ข้อเข่าหย่อน ไม่กระชับ
มุมองศาการเคลื่อนไหวลดลง
งอเข่า เหยียดข้อได้ไม่สุดเหมือนเคย
ปวดเข่า ตึงน่อง เมื่อยน่อง
เข่าบวม รู้สึกเคลื่อนไหวแล้วไม่มั่นคง เหมือนเข่าหลวม
เข่าผิดรูป โก่งออกนอก
พฤติกรรมทำซ้ำที่ยิ่งทำก็ยิ่งทำร้ายข้อเข่า
ได้แก่ นั่งงอเข่ามากกว่า 90 องศา เช่น นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งยองๆ คลานเข่า คุกเข่า หรือเคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณดังกล่าว
การกระโดด ก็เป็นหนึ่งพฤติกรรมที่ทำร้ายข้อเข่า แม้การกระโดดจะมีแรงอัดกระแทกประมาณ 3-5 เท่า ในขณะที่ความจริงข้อเข่าสามารถรับแรงได้ถึง 7 เท่า แต่หากทำซ้ำบ่อยๆ กระดูกส่วนที่ทำหน้าที่รองรับก็จะสึกหรอเร็วขึ้น
การที่เรามีน้ำหนักตัวมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข่าต้องทำหน้าที่รับแรงกดกระแทกในแต่ละอิริยาบถในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน หรือนั่ง จะเห็นได้ว่าคุณหมอมักจะแนะนำให้ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดีสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
วิธียืดระยะให้ข้อเข่าอยู่กับเราไปนานๆ
พยายามเลี่ยงการนั่งงอเข่าเกิน 90 องศา หากต้องงอเข่านานๆ ให้ค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถแบบช้าๆ
ลดหรือควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดีหรือไม่มากเกินไป
บริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่าให้แข็งแรง เช่น ยืนแกว่งแขน โยคะ ไทเก๊ก จ๊อกกิ๊งเบาๆ แอโรบิก ยืดเหยียดกล้ามเนื้อขา
กินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี และแคลเซียม
แคลเซียมกับเรื่องกระดูกและข้อ
เซลล์กระดูกมี 3 ชนิด คือ ออสติโอบลาสต์ (Osteoblast) ทำหน้าที่สร้างเนื้อกระดูกและแคลเซียม ออสติโอไซต์ (Osteocyte) ทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียม และ ออสติโอคลาสต์ (Osteoclast) มีหน้าที่ส่งแคลเซียมออกสู่กระแสเลือด
แคลเซียม (Calcium) เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกวัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยความต้องการแคลเซียมต่อวันในวัยทารกอยู่ที่ 600 มิลลิกรัม เด็กโตอายุถึง 10 ปี 800 มิลลิกรัม วัยรุ่น 1,200 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ 1,000 มิลลิกรัม วัยหมดประจำเดือน 1,500 มิลลิกรัม และผู้สูงอายุ 1,000 มิลลิกรัม
แหล่งแคลเซียมจากอาหาร
จากสัตว์ เช่น ปลาร้า กุ้งแห้ง ปลาลิ้นหมา ปลากเล็กปลาน้อย ซุปน้ำต้มกระดูก นม เนย โยเกิร์ต
จากพืช เช่น คะน้า กระเฉด โหระพา ชะพลู ถั่วเหลือง เต้าหู ธัญพืช เห็ดหอม
เครื่องปรุง เช่น กะปิ พริกแห้ง ใบมะกรูด งาดำ
วิตามินดี สิ่งจำเป็นที่ถูกมองข้าม
เพราะเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ ละลายในไขมันได้ดี แต่ร่างกายจะยอมให้วิตามินดีผ่านร่างกายแค่ 20% เท่านั้น ที่เหลือจึงจะขับออก ดังนั้นเราต้องเติมวิตามินดีจากแสงแดดร่วมด้วย เพราะร่างกายจะกักเก็บไว้ใช้เมื่อแคลเซียมในกระแสเลือดลดลง ตับ และไตจะทำหน้าที่ขอเบิกวิตามินดีจากผิวหนังไปใช้ ซึ่งแสงแดดตอนก่อน 8 โมงเช้าและหลัง 4 โมงเย็นจะเป็นช่วงที่แดดไม่แรงแสบผิวจนเกินไป เหมาะแก่การออกไปโดนแดดบ้าง แค่ระหว่างที่เดินไปออฟฟิศ หรือเดินไปซื้อขนมก็ปล่อยให้แขนได้โดนแสงแดด เพียงอาทิตย์ละ 4 ครั้ง จะเป็นวิธีง่ายๆ ที่เพิ่มวิตามินดีให้ร่างกายได้ใช้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม “โรคข้อเข่าเสื่อม” เป็นโรคด้านกระดูกและข้อที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถยืดระยะให้เกิดช้าลงได้ตามข้อมูลข้างต้น ที่สำคัญ เลือกทานอาหารที่ดี มีประโยชน์และสารอาหารบำรุงร่างกาย ออกกำลังกายตามความเหมาะสม ไม่ต้องหนักหน่วงมาก แค่ขอให้ร่างกายได้ขยับ เรียกเหงื่อได้เล็กน้อยประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพียงเท่านี้ไม่ว่าจะเป็นวัยเก๋หรือวัยเก๋า ก็มีกระดูกที่แข็งแรงและมีสุขภาพร่างกายที่ดี ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ที่สามารถป้องกันได้แล้ว