ทารกน้ำหนักน้อย แนวโน้มป่วยโรคไต
นักวิจัยสหรัฐระบุ เด็กชายรับผลกระทบ
นิวยอร์ก : นักวิจัยสหรัฐระบุพบความเกี่ยวโยงกันระหว่างการเกิดมามีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานกับโรคไตเรื้อรังในเพศชาย ส่วนผู้หญิงไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
ดร.เอ เจ คอลลินส์ แห่งมูลนิธิวิจัยโรคไตเรื้อรัง ในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐ และทีมนักวิจัย ได้รายงานผลการศึกษาลงในวารสารโรคไตนานาชาติว่า เด็กผู้ชายที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อยมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรังเมื่อเติบโตขึ้น เช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูงหรือความเครียด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เด็กกลุ่มนี้มีท่อภายในไตที่ทำหน้าที่กรองของเสียและผลิตปัสสาวะผิดปรกติ
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลการศึกษาในครั้งนี้ คอลลินส์และคณะได้ใช้ข้อมูลที่ได้จากมูลนิธิโรคไตแห่งชาติเพื่อคัดกรองข้อมูลคนไข้ก่อนดูความเกี่ยวโยงกันระหว่างปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อโรคไตเรื้อรังของกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 12,364 คน ตลอดระยะเวลา 18 ปี อาทิ มีโรคประจำตัวอย่างอื่นหรือไม่ และประวัติครอบครัว เป็นต้น ก่อนพบว่าผู้ชายที่เกิดมามีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 2,500 กรัม มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรังมากกว่าเด็กที่เกิดมามีน้ำหนักตัวมาตรฐานถึงร้อยละ 65 ขณะเดียวกันเด็กที่เกิดมาอ้วนก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเด็กที่มีน้ำหนักตัวตอนคลอด 4,500 กรัม มีความเสี่ยงในจุดนี้ร้อยละ 41
อนึ่ง ไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดและขับออกพร้อมกับน้ำในรูปของปัสสาวะ อยู่ที่ส่วนล่างของช่องท้อง มีสองข้างซ้ายขวา ไตขวาอยู่ด้านใต้ติดกับตับ ไตซ้ายอยู่ใต้กะบังลมและอยู่ติดกับม้าม ข้างบนไตทั้งสองข้างมีต่อมหมวกไตอยู่ เนื่องจากในช่องท้องมีตับอยู่ทำให้ร่างกายสองข้างไม่สมมาตรกัน ตำแหน่งของไตขวาจึงอยู่ต่ำกว่าไตซ้ายเล็กน้อย และไตซ้ายยังอยู่ค่อนมาทางกลางลำตัวมากกว่าไตขวาเล็กน้อยเช่นกัน
ที่มา: โลกวันนี้
ภาพประกอบ: www.thaihealth.or.th
update 28-03-51