ทางเลือกสุขภาพดี เริ่มต้นจากฟาร์มอินทรีย์

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 


ทางเลือกสุขภาพดี เริ่มต้นจากฟาร์มอินทรีย์ thaihealth


แฟ้มภาพ


ถึงแม้ว่า "ผักผลไม้" จะมีประโยชน์มากมาย ทั้งสารต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน แร่ธาตุ ฯลฯ ที่ดีกับร่างกาย แต่ก็อาจปนเปื้อนไปด้วยสารตกค้าง ซึ่งเป็นอันตรายกับร่างกายและทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเจ็บป่วยจากพิษที่สะสม


อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ไม่มีทางเลือก ผู้บริโภคสามารถเลือกผักผลไม้ปลอดภัยที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic) รู้แหล่งที่มาที่ชัดเจน แม้ว่าในประเทศไทยจะมีพื้นที่การผลิตอาหารอินทรีย์ไม่ถึง 1% ของพื้นที่เกษตรกรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ข้าวอินทรีย์ ผักและผลไม้จึงเป็นของหายากและไม่เพียงพอกับการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค เลมอนฟาร์มได้ดำเนินโครงการ Eat Right-Eat Organic พัฒนาและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และเป็นตลาดที่รองรับผลผลิตโดยไม่ผ่านคนกลาง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ทางเลือกสุขภาพดี เริ่มต้นจากฟาร์มอินทรีย์ thaihealth


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. บอกว่า การเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภคมาเจอผู้ผลิตโดยตรงเพื่อส่งเสริมการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับตัวเองและคนรอบข้าง เพราะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคคือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นั้น ทำให้ประชาชนเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวปีละ 300,000 คน ดังนั้นการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสุขภาพของผู้บริโภค โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อเสนอแนะให้บริโภคผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลงได้ ดังนั้น สสส.มีเป้าหมายให้คนไทยมีสุขภาพดีจากการบริโภคผักผลไม้เป็นร้อยละ 50 จากเดิมร้อยละ 25 โดยสนับสนุนการมีสุขภาพดีตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือการปลูกผักผลไม้อินทรีย์ เพื่อทำให้สุขภาพคนไทยดีขึ้นตามลำดับ


'สุขภาพดี เริ่มต้นจากฟาร์มอินทรีย์' เป็นการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมเกษตรรายย่อยให้มีกระบวนการพัฒนาอาหารอินทรีย์แบบส่วนร่วม (Organic PGS) และสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี โดยเลือกผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษ มีการจัดการผลผลิตที่ชัดเจนตรวจสอบได้ บนพื้นฐานของความซื่อตรงและโปร่งใส จนปัจจุบันมีเกษตรอินทรีย์รายย่อย 11 กลุ่มใน 8 จังหวัด


ทางเลือกสุขภาพดี เริ่มต้นจากฟาร์มอินทรีย์ thaihealth


ขณะที่ นายณัฐพล สุทธิกร ทีมส่งเสริมเลมอนฟาร์ม ออร์แกนิกพีจีเอส ให้ข้อมูลว่า Participatory Guarantee System (PGS) หรือกระบวนการพัฒนาอาหารอินทรีย์แบบชุมชนมีส่วนร่วมส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย เป็นการประกันคุณภาพของเกษตรอินทรีย์ให้ผู้บริโภคมั่นในได้ว่าผักผลไม้ที่มาจากเกษตรกรรายย่อยของเลมอนฟาร์มปลอดสารเคมีแน่นอน กระบวนการของ PGS อ้างอิงมาตรฐานจากเกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) โดยนำมาปรับการสื่อสารเพื่อให้เกษตรกรเข้าใจง่ายขึ้น มีขั้นตอนคือ 1.คัดเลือกเกษตรกร อบรมให้ความรู้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 2.เกษตรกรลงมือปลูก 3.ลงตรวจสอบที่แปลง 4.เกษตรกรบันทึกการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขายผลผลิต 5.ส่งผลผลิตให้เลมอนฟาร์ม 6.สุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตทุกสัปดาห์ 7.มีหมายเลข รหัสผู้ผลิต จะระบุผู้ผลิตเพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบรับรองแบบมีส่วนร่วมประกอบด้วย เกษตรกร เลมอนฟาร์ม หน่วยงานราชการท้องถิ่น คนในท้องถิ่นมาร่วมตรวจด้วย แต่สิ่งสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมคือ การเรียนรู้ของเกษตรกรที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และนำองค์ความรู้นั้นไปปรับในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น


ทางเลือกสุขภาพดี เริ่มต้นจากฟาร์มอินทรีย์ thaihealth


"ถึงแม้ว่าเราจะยังมีเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยไม่มาก เนื่องจากต้องใช้แรงเกษตรกรจำนวนมาก ใส่ใจทุกขั้นตอน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม จึงมีต้นทุนเพิ่มเติมในการดูแลสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคจะมองว่าผักผลไม้อินทรีย์ราคาสูงกว่าตามท้องตลาดทั่วไป แต่เราก็คาดหวังว่าจะมีคนเข้าร่วมกระบวนการเกษตรอินทรีย์ให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยที่สุดประชาชนเองก็สามารถปลูกผักผลไม้ด้วยตนเองโดยไม่ใช้สารเคมี นั่นคือความมั่นคงทางอาหารที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย และควบคู่กับการมีสุขภาพที่ดีตามที่ สสส.และองค์การอนามัยโลกแนะนำ" นายณัฐพลอธิบายเพิ่มเติม


ทางเลือกสุขภาพดี เริ่มต้นจากฟาร์มอินทรีย์ thaihealth


ปิดท้ายกันที่ เกษตรกรผู้เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ โดยยึดหลักกการปลูกผักเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่าง นายประเสริฐ จันทรไกร หัวหน้ากลุ่มรักษ์อินทรีย์พีจีเอสด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เล่าให้ฟังว่า นับตั้งแต่ปี 2544 ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพราะสุขภาพไม่ดีจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตร และขาดทุนจำนวนมาก เมื่อมาเรียนรู้วิถีเกษตรแบบอินทรีย์แล้วก็ตั้งสัจจะไว้ว่าจะไม่หันกลับไปใช้สารเคมีอีก เพราะผู้บริโภคกินเข้าไปแล้วเป็นอันตรายกับร่างกาย


"ผมตั้งจิตอธิษฐานในการลงมือปลูกผักในทุกๆ วันว่า ขอถวายเป็นปฏิบัติบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเริ่มขุดดินและปลูกผักตั้งแต่ เวลา 01.00 น.เป็นต้นไป ทำแบบนี้ในทุกๆ วัน และเมื่อต้องตัดผักไปขายก็จะลาพระพร้อมอธิษฐานว่าขอให้ผักเหล่านี้เป็นยารักษาคน เมื่อเขาบริโภคไปแล้วจะได้หายเจ็บป่วย เมื่อเขามีสุขภาพที่ดี เกษตรกรอย่างเราก็มีความสุข เมื่อมีระบบ PGS เข้ามาช่วย ยิ่งทำให้กลุ่มเกษตกรอินทรีย์มั่นใจในกระบวนการของระบบ และทำให้เกษตรกรอย่างเราอยู่ดีกินดี มีร่างกายที่แข็งแรงที่ไม่ต้องโดนสารเคมี และมีแรงใจที่จะทำเกษตรอินทรีย์ต่อไปแม้จะอายุมากแล้วก็ตาม" นายประเสริฐกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม


เสียงจากผู้บริโภคเท่านั้นที่สามารถเรียกร้องต่อความต้องการผักผลไม้อินทรีย์ เพียงแค่เสียงที่เราส่งออกมาจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นในพื้นที่ของประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่การมีสุขภาพที่ยั่งยืนทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

Shares:
QR Code :
QR Code