ทางเลือกมาตรฐาน-ทางรอดโรค NCDs คนไทย

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ทางเลือกมาตรฐาน-ทางรอดโรค NCDs คนไทย thaihealth


"สมัยนี้ใครมีเวลาทำกับข้าวกินเองได้ถือว่าโชคดี" แม้จะเป็นคำพูดที่ดูจะออกไปทางประชดประชันเสียดสีเสียหน่อย แต่คงต้องยอมรับว่า "มีมูล" เป็นความจริงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ บรรดา "ประชากรกรุงเทพฯ" ที่ต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อฝ่าสภาพการจราจรระดับ "แชมป์โลกเมืองรถติด" ไปเรียนหรือทำงาน และเช่นเดียวกันในช่วงเย็นหรือหัวค่ำเมื่อต้องเดินทางกลับบ้าน วนเวียนอยู่แบบนี้เรื่อยไป ชาว กทม. จึงต้องฝากท้องไว้กับร้านหรือแผงขายอาหารประเภทต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


แต่ก็เพราะสถานการณ์แบบนี้เองได้ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และ หลอดเลือด ความดัน ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน เพิ่มขึ้นมากในหมู่ประชาชนคนไทย ดังข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ราว 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 48 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนประเทศไทย ในปี 2558 ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ประมาณ 3 แสนคนต่อปี โดยป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด


ดร.สันต์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีสัมมนา "การบริโภคที่ดีอาจไม่ได้เริ่มที่ตัวคุณ" ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากโครงการพัฒนาเครือข่ายเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของประชากรไทย โดยความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) กับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นำเอาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาศึกษาเพื่อหาวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ที่ไม่ปลอดภัยของคนไทย


ทางเลือกมาตรฐาน-ทางรอดโรค NCDs คนไทย thaihealth


ดร.สันต์ ในฐานะหัวหน้าโครงการนี้ เล่าว่า ได้รวบรวมผลการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคจากต่างประเทศ ก่อนนำมาทดลองใช้สำรวจพฤติกรรมนิสิต- นักศึกษาในเขต กทม. และปริมณฑล ตามร้านอาหาร "ฟาสต์ฟู้ด" แบรนด์ดัง รวมถึงโรงภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า พบว่า 1.การกำกับดูแลร้านอาหารสำเร็จรูปมีความสำคัญ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รับประทานที่ร้านและซื้อกลับบ้าน


2.กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ "กินอะไรก็ได้ไม่เรื่องมาก" ดังนั้นการจูงใจด้วยการ "กำหนดทางเลือกมาตรฐาน" (Default Option) ด้วยการจำกัดสิทธิทางเลือกเมนูแก่ผู้สำรวจโดยอัตโนมัติได้ผล เช่น ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีเบอร์เกอร์ไก่และเบอร์เกอร์ปลา "หากตั้งเบอร์เกอร์ไก่เป็นทางเลือกมาตรฐานจะมีกลุ่มคนที่เลือกไก่ร้อยละ 75.3 ในขณะที่ถ้าไม่กำหนดทางเลือกมาตรฐานจะมีผู้เลือกซื้อเบอร์เกอร์ไก่เพียง ร้อยละ 54.5" เท่ากับว่า การมีทางเลือกมาตรฐานทำให้คนเลือกเบอร์เกอร์ไก่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.8 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอาหารประเภทนั้นๆ เป็นที่คุ้นเคยเพียงใด


3.การดูแลเรื่องการตั้งราคามีความสำคัญ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่าง "ส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อโปรโมชั่นและ ราคาสูง" ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณหรือเปลี่ยนราคา 4.การให้ข้อมูลด้านโภชนาการในรูปแบบเมนูแนะนำที่มีลักษณะ ทางโภชนาการที่ดี เป็นคุณสมบัติของรายการอาหารประเภทเดียวที่มีประสิทธิผลแต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น และ 5.ยิ่งได้รับอาหารมากจะยิ่งบริโภคมาก ดังนั้นปริมาณอาหารที่จัดให้จึงมีผลกับพฤติกรรมการบริโภค หากสามารถจัดการขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อสุขภาพแล้ว น่าจะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เกินพอดีได้


นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ กล่าวต่อไปว่า ความคาดหวัง ของโครงการพัฒนาเครือข่ายเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของประชากรไทย คือเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่จุดประกายให้ผู้ประกอบการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว โดยเริ่มจากการพิจารณาเมนูในร้านค้าของตนว่าเมนูไหนมีประโยชน์พอที่จะเป็นเมนูสุขภาพได้ แล้วชูเมนูนั้นๆ ขึ้นมาเป็นเมนูแนะนำ รวมถึงการเพิ่มปริมาณและชนิดของผักในแต่ละเมนูให้หลากหลายมากขึ้น เมื่อบวกกับการ "ลดการปรุงรสชาติหวาน มัน เค็ม" ก็เป็นการยืดหยุ่นและเอื้อประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการร้านค้าไม่เดือดร้อนมากนัก และผู้บริโภคก็ได้รับประทานอาหาร ที่ปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากการสำรวจพบว่า การกำหนด ทางเลือกมาตรฐาน (Default Option) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และมีประสิทธิผลสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร จึงเกิดแนวคิดส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการด้านอาหารกำหนดเมนูทางเลือกมาตรฐาน ที่เป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น


ทางเลือกมาตรฐาน-ทางรอดโรค NCDs คนไทย thaihealth


ขณะที่ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า "ไม่ว่าเรื่องใดๆ การตัดสินใจของมนุษย์ร้อยละ 80 เกิดจากความคุ้นชิน มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เกิดจากเหตุผลและความรู้" ดังนั้นควรส่งเสริมให้เกิดทางเลือกนโยบายขึ้นเพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ดีใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.จัดการข้อมูลสำคัญให้ง่ายต่อการเข้าถึง และทำความเข้าใจ สอดคล้องกับการปฏิบัติในชีวิตจริง 2.สร้างบริบทแวดล้อมให้เอื้อต่อการบริโภค เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 3.การกำหนดตัวเลือกแนะนำหรือตัวเลือกเริ่มต้น หรือลำดับในการนำเสนอสินค้าบริการ และ 4.เสริมสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเพื่อจูงใจให้คนในสังคมปฏิบัติตาม โดยภาครัฐออกแบบและขับเคลื่อนนโยบาย ส่งเสริมเอกชนให้ใช้ทางเลือกมาตรฐานในการส่งเสริมสุขภาวะ ส่วนภาคเอกชนควรร่วมมือกับภาครัฐในการประกอบการ ภายใต้นโยบาย และภาคประชาสังคมควรร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายและช่วยตรวจสอบการดำเนินงาน


เคยมีคำกล่าวหนึ่งที่ว่า "หากการเลือกทำสิ่งที่ถูก มีต้นทุนสูง มนุษย์ก็จะหันไปเลือกทำสิ่งที่ผิดแต่มีต้นทุนต่ำกว่า" นำไปสู่แนวคิดการปรับปรุงกฎหมาย-กฎระเบียบต่างๆ ให้ง่ายต่อการปฏิบัติตาม อาทิ การที่รัฐบาลพยายามลดขั้นตอนการจดทะเบียน ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการอนุมัติอนุญาตต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งคำกล่าวข้างต้นสามารถนำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้เช่นกัน โดยทำให้อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นทางเลือกมาตรฐาน เข้าถึงง่ายกว่าอาหารประเภทอื่นๆ จนผู้บริโภคสั่งมารับประทานด้วยความคุ้นชิน เมื่อนั้นสุขภาพคนไทยโดยรวมคงดีขึ้น ลดความเสี่ยง จากกลุ่มโรค NCDs ได้ในที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code