ทัวร์ออร์แกนิกฟาร์ม ดึงโรมแรมดังสร้างระบบอาหารสมดุล
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก
"ทัวร์ออร์แกนิกฟาร์ม" ดึงโรมแรมดังสร้างระบบอาหารสมดุลจัดงาน “สรุปผล 1 ปี การขับเคลื่อน Organic Tourism ร่วมกำหนด ทิศทางการขยายผล”
6 มีนาคม 2562 ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ วิสาหกิจเพื่อสังคม แล็บอาหารยั่งยืน(ประเทศไทย) ร่วมกับ สามพรานโมเดล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงาน “สรุปผล 1 ปี การขับเคลื่อน Organic Tourism ร่วมกำหนด ทิศทางการขยายผล” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนรับทราบความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน Organic Tourism หรือ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ร่วมสร้างระบบอาหารภายในประเทศให้สมดุลยั่งยืน
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน และผู้ร่วมก่อตั้งแล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า Organic Tourism หรือการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล ใช้สามพรานโมเดลเป็นต้นแบบพัฒนาการขับเคลื่อน และใช้กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม ดึงคนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเริ่มในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารชั้นนำ และตลาด จำนวนมากสนใจเข้ามาร่วม
“การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้ผลิต ความท้าทายในการขับเคลื่อนคือจะทำอย่างไรให้ทุกคนออกนอกกรอบเดิม ๆ เพราะทั้งผู้ผลิต และผู้ประกอบการต่างก็เคยชินกับวิธีการซื้อขายที่ทำมา ซึ่งการที่จะให้ทั้งสองส่วนมาทำงานร่วมกัน ต้องให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักสร้างความยืดหยุ่นในวิธีการทำงาน เช่น เกษตรกรต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ส่วนผู้ประกอบการเอง แต่เดิมสามารถสั่งผลผลิตอะไรก็ได้จากพ่อค้าคนกลาง แต่สำหรับผลผลิตอินทรีย์จะเป็นไปตามฤดูกาล บางอย่างอาจไม่มีให้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนเทคนิคการสื่อสารกับลูกค้า” นายอรุษ กล่าว
ทั้งนี้เราได้ทุนจาก สสส. และได้ดำเนินการในพื้นที่กทม. เชียงใหม่ สำหรับปีที่สองที่จะกำลังจะเริ่มขึ้นนี้ และจะขยายในจังหวัดใกล้เคียงอาทิ เชียงราย พิษณุโลก ลำปาง เลย เป็นการต่อยอดสามพรานโมเดล เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มาร่วมขับเคลื่อน Organic Tourism เพราะจะเป็นมากกว่าการซื้อขายเกษตรอินทรีย์ที่มาร่วมกับผู้บริโภคได้หันมาบริโภคอาการเกษตรอินทรีย์ เพื่อช่วยเหลือสังคม ตลอดจนการยกระดับเกษตรกรที่พึ่งพาการทำเกษตรแบบเคมีมาเป็นการทำธุรกิจเพื่อผู้บริโภคให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีพันธกิจสร้างเสริมสุขภาพคนไทย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่การจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีได้ การจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรต่อสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ อันดับแรก ประชาชนต้องมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ซึ่งการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์นั้นนอกจากจะเชื่อมโยงเกษตรกรเข้ากับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นตัวอย่างของการสร้างสังคมสุขภาวะ ดังเช่นแผนในอนาคตที่จะมีการพาลูกค้าลงพื้นที่ไปยังฟาร์มเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศแล้ว สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ เกิดความเชื่อมั่นต่อเกษตรกร ซึ่งความรอบรู้เหล่านี้จะทำให้เกิดความต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารดีต่อสุขภาพตามมา การเป็นกลไกการขับเคลื่อน เชื่อมโยง ผู้ผลิตและเกษตรกร ที่ส่งผลต่อผลผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภค ตลอดจนนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการและมุ่งไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดี
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง แล็บอาหาร ยั่งยืน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ที่เราใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนระบบอาหาร พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกคนจากห่วงโซ่อาหารได้ประโยชน์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ได้บริโภคอาหารที่ดี สุขภาพดี หากแต่สุขภาวะโดยรวมของทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมดีขึ้น จากการมีความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ มีจิตใจที่ดีเอื้ออาทร มีมิตรไมตรีต่อกัน มีสังคมที่ดี
อย่างไรก็ตามการสร้างระบบอาหารให้ยั่งยืนขึ้นนั้น เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีต่อไป เรามุ่งหวังจะขยายผลจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ไปพื้นที่ใกล้เคียงด้วย โดยเราอยากให้มีความหลากหลายมากขึ้น
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวว่า การศึกษาดูงานโครงการ Organic Tourism เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ให้กับโรงแรมเครือสุโกศล จนเกิดเป็นนโยบาย กรีน มีตติ้ง คอนเซ็ป มีการเสนอทางเลือกให้ลูกค้าด้วย Organic คอฟฟี่เบรก มีการปรับเปลี่ยนเมนูในบุฟเฟ่ต์ของห้องอาหาร และขยายผลไปยังแผนกจัดเลี้ยง และที่สำคัญพบว่าการใช้วัตถุดิบออร์แกนิกไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสูงขึ้น หากเชฟมีความเข้าใจ มีเทคนิคในการประกอบอาหาร ดังนั้น ทางโรงแรมจึงอยากเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนและเผยแพร่ประโยชน์เหล่านี้ออกไปในวงกว้าง เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร และช่วยเหลือสังคม
ขณะที่ ป้าประหยัด ปานเจริญ ประธานกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ บ้านหัวอ่าว เล่าว่า จากการปรับตัวร่วมทำงานกับผู้ประกอบการทำให้รู้ความต้องการ เห็นปัญหาว่าผลผลิตเรายังไม่ได้คุณภาพ จึงมีการปรับปรุงผลผลิต และคุณภาพก่อนส่งมอบ ทำให้สามารถวางแผน และปรับตามความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น
คุณอรุณี พุทธรักษา ประธานกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เล่าว่า การทำงานร่วมกันทำให้รู้และเข้าใจปัญหาของทุกฝ่าย เมื่อมาคุยกัน เข้าใจกัน ยอดการผลิตก็เริ่มลงตัว รายได้ของเกษตรกรก็เพิ่มมากขึ้น จากส่วนที่ส่งไปโรงแรมในกรุงเทพฯ