ทอรักด้วยใจ เสริมสมดุลชีวิตให้คนทำงาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วงการอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ เครื่องหนัง เครื่องประดับของไทย ถูกรังสรรค์ท่ามกลางความคิดที่เป็นอิสระและกดดัน จึงเป็นเหตุให้บางคนแวะเวียนเข้าและออกจากงานที่ทำบ่อยครั้ง เหตุผลอาจมาจากค่าตอบแทนที่ดี แต่ต้องแลกมากับการสูญเสียเวลาส่วนตัว ทำให้คนที่ทำงานอุตสาหกรรมสิ่งทอไม่สามารถ  work life balance สร้างสมดุลชีวิตในการทำงานได้ ดังนั้นแนวคิด Happy workplace จึงถูกหยิบยกสนับสนุนให้คนได้นำปฏิบัติ

ในเวทีกิจกรรมกระตุ้นนโยบายองค์กรสุขภาวะด้านพฤติกรรม ภายใต้โครงการสร้างพัฒนา ขยายผลองค์กรสุขภาวะ สู่ผลลัพธ์พฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนในคลัสเตอร์สิ่งทอ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ นั้น ได้รวมคนหลากหลายกลุ่มสิ่งทอเข้ามาสำรวจปัญหาสุขภาพใจ ด้วยเครื่องมือและกลไกต่างๆ โดยนางธนิกานต์ โอภาสวิมล หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาบุคลากร (HRD) บริษัท จุลไหมไทย จำกัด กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว เนื่องจากทางบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพทางใจของพนักงาน ตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา มีการอบรมระฆังสติกับกรมสุขภาพจิต เพื่อให้พนักงานมีสติและสมาธิ รวมถึงการทำ Mental Health check in ตรวจเช็คสุขภาพใจ หรือการใช้เครื่องไบโอฟีดแบ็ค (biofeedback) คัดกรองสภาวะสุขภาพจิต เพื่อดูว่าพนักงานคนไหนป่วยเป็นซึมเศร้า หรือมีความเสี่ยง เพราะไม่ว่าปัญหาส่วนตัว หรือปัญหาในที่ทำงาน จะส่งผลกระทบต่อการทำงานภาพรวมได้

ที่ผ่านมาทางบริษัทได้รับแนวทางและเครื่องมือในการสำรวจสุขภาพใจ สร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงานแล้วว่า ความเครียด ความวิตกกังวล ซึมเศร้า มีผลกระทบอย่างไร เหลือเพียงการทำกิจกรรม หรือวิธีการเข้าไปช่วยเหลือแก้ไข เพื่อให้พนักงานเกิดความผ่อนคลาย ส่งผลให้คนทำงานมีสุขภาพจิตที่ดี การงานราบรื่น (คน happy งาน happy )

“สมัยนี้ด้วยภาวะเศรษฐกิจ คนอายุ 30 ปีปลายๆ จนถึง 40 ปี ไม่น่าห่วง เพราะผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว ผ่านความกดดัน เข้าใจชีวิตของการทำงาน แต่คนรุ่นใหม่หรืออายุประมาณ 20 ปีปลายๆ ยังไม่เข้าใจคำว่าระบบการทำงานแบบถ่องแท้ และด้วยที่สภาพเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม หรือการสื่อทางแบบทางเดียว อยู่กับอินเตอร์เน็ทส่งผลกระทบเรื้อรังตามมาได้ กลายเป็นคนที่มีปัญหาทางใจ” นางธนิกานต์ กล่าว

ขณะที่นายณัฎฐวสุ ฐาวีระพงษ์ เจ้าของแบรนด์ Horrizone กล่าวว่า เพิ่งเปิดบริษัททำแบรนด์กระเป๋าหนังทำมือได้ไม่นาน ต้องการความรู้ไปปรับใช้ และพัฒนากับเพื่อนร่วมงาน อยากรู้ว่าต้องทำอย่างไร หากเกิดความเครียด เพราะชิ้นงานที่ทำนั้นแม้ได้เกิดความเครียดมาก แต่ก็ต้องใช้ความคิดและเกิดการพัฒนาต่อเวลา

“การมาร่วมอบรมในกิจกรรมครั้งนี้ หวังจะได้รับแนวทาง หรือมีโค้ชที่คอยแนะนำว่า ต้องทำอย่างไรหากเผชิญกับความเครียดและกดดัน” นายณัฎฐวสุ กล่าว

ด้านดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ยอมรับสถานการณ์ของผู้คนในคลัสเตอร์สิ่งทอนี้ มีทั้งความกดดัน ความเครียด จากความต้องการงานที่สร้างสรรค์ พัฒนา หรือ การปวดกระดูกข้อ จากนั่งนานในการตัดเย็บออกแบบ ในกลุ่มผลิตเครื่องนุ่งห่ม, ส่วนกลุ่มผลิตสิ่งทอ ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพ อยู่กับเครื่องจักรนาน ประสิทธิภาพของการฟังลดลง ทำให้ประสาทหูเสื่อม, ผลกระทบระบบทางเดินหายใจจากเศษฝ้าย เศษด้ายในโรงงาน หรือ สีย้อม โดยพบว่า คนรุ่นใหม่ทยอยเข้าและออกงานสูง เฉลี่ยทุกๆ 5 ปี

จากการสำรวจพบว่า สาเหตุมาจากเบื่อสภาพแวดล้อมเดิม, เบื่อสังคมรอบข้างในที่ทำงาน, เบื่อรูปแบบงานที่จำเจ หรือลาออกเพราะได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น หรือออกมาทำงานอิสระของตนเอง ทำให้บุคลากรด้านนี้เริ่มหายไปออกจากระบบห่วงในอนาคต จะไม่มีคนรุ่นใหม่ในธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น เพราะคนรุ่นใหม่หันไปทำงานภาคบริการ และไม่อยากให้มองว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังเป็น sunset ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังเติบโต ไม่เช่นนั้นสินค้าเพื่อการส่งออกจะแข่งขันไม่ได้

ทั้งนี้มองว่า การเข้าร่วมโครงการกับ สสส. เชื่อว่ากลุ่มผู้ประกอบการจะได้สาระองค์ความรู้ จากชุดคู่มือต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งจากกลุ่มแพทย์ หรือภาคีอื่นๆ แบบฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ สร้างบรรทัดฐาน หรือ แนวทางการปฏิบัติงานให้เกิดในแต่ละองค์กร เช่น การขยับร่างกายในโรงงานเพื่อลดภาวะความตึงเครียดของกล้ามเนื้อที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อย คนทำงานผ่อนคลาย เพราะนายจ้างสนใจหรือรับรู้ปัญหาสุขภาพ คนทำงานก็ happy และที่สำคัญสูงสุดคือสามารถดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาในระบบ

“ที่ผ่านมาต่างชาติมองไทย ว่า ผลิตภัณฑ์ของไทย ไม่ได้ใส่ใจดูแลคนทำงาน เพราะห่วงทำราคา, ตัดราคา แต่ในสินค้าการส่งออกจะคิดแต่เรื่องราคาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะตอนนี้ยุโรปตั้งกำแพงการส่งออกไว้สูง ดูกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางปลายทางให้เป็น green ocean มีความยั่งยืน Sustainability หากไทยปรับตัวทำได้ มองข้ามการแข่งราคาเพราะไม่สามารถทำได้เท่าบังคลาเทศ กัมพูชา มามุ่งเรื่องผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และคนทำมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฉวยโอกาสช่องว่างในการแข่งขัน เรื่องนี้ที่ยังน้อยอยู่ ทำให้สินค้าไทย คงคุณภาพและมีความยั่งยืนทั้งการผลิตและวัฒนธรรม” ดร.ชาญชัย กล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลของ นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพของคนวัยทำงาน จากรายงาน Champion Health Mental Health & Wellbeing ปี 2566 โดยเว็บไซต์ thelancet.com พบว่า คนวัยทำงานในไทยมีภาวะเครียดระดับปานกลางถึงเครียดจัด สาเหตุจากบรรยากาศในที่ทำงานไม่ดี และภาระงานที่หนักเกินไป 76% ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกว่ามีภาวะวิตกกังวล 60% เผชิญปัญหาป่วยซึมเศร้า 56% นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตและภาวะหมดไฟในการทำงาน สอดคล้องกับผลสำรวจประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพของคนทำงานกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ ในสถานประกอบการ 20 แห่ง ปี 2566 พบคนวัยทำงานไม่มีความสุข ป่วยซึมเศร้า สุขภาพสังคมทำงานไม่ดี เป็นสาเหตุหลักการลาออกของคนทำงานโดยเฉลี่ย 5-10% ต่อปี และขาดแรงจูงใจให้คนวัยทำงานหน้าใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม

“สสส. สนับสนุนให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นำแนวคิด Happy workplace ไปใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเสี่ยงการป่วยด้านสุขภาพจิต (Mental Health) ของคนทำงานในอุตสาหกรรม ผ่านแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน 1.ส่งเสริมให้สถานประกอบการสิ่งทอฯ กำหนดนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร 2.ขยายเครือข่ายองค์กรสุขภาวะตามยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 10 ปี ของ สสส. 3.ศึกษาปัจจัยความสำเร็จสู่การเพิ่มขีดความสามารถส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยมุ่งเป้าให้เกิดสถานประกอบการในคลัสเตอร์สิ่งทอต้นแบบ 100 แห่ง ภายในปี 2569” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

คนที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน ไม่ได้หมายความว่า ต้องไม่แลกมาด้วยเวลาทั้งหมด หรือ สละสุขภาพของตน เพราะคนที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง คือคนที่มีสมดุลชีวิต มีความสุขในการใช้ชีวิต มีความสุขในการทำงาน ส่วนองค์กรที่ดี ไม่ได้หมายถึงจ่ายค่าตอบแทนที่สูง  แต่ต้องเป็นองค์กรทั้งพรั่งพร้อมด้วยสุขภาพที่ดี 4 มิติ  สุขภาพกายดี  สุขภาพจิตดี สุขภาวะทางปัญญาดี และ สังคมที่ดี

Shares:
QR Code :
QR Code