‘ทวิภาษา’ แก้ปัญหาอ่านเขียนไม่คล่องของเด็กไทยชาติพันธุ์

สสค.นำเสนอ 2 กรณีตัวอย่างของโรงเรียนชายขอบที่ใช้นวัตกรรม “ทวิภาษา” ส่งเสริมเด็กไทยชาติพันธุ์ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาอ่านเขียนภาษาไทยไม่คล่อง และสามารถเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นได้

ควันหลงจาก “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ที่ปีนี้แม้แต่เว็บไซต์ “กูเกิล (google)” ยังทำ “ดูเดิล” (doodle) หรือภาพที่วาดลงบนโลโก้ของกูเกิลด้วยอักษรภาษาไทย เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยรัก และใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อีกทั้งช่วยเผยแพร่ความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยสู่สายตาชาวโลก

ย้อนกลับไปสมัยคนรุ่นปู่รุ่นย่า แม้จะเรียนขีดๆเขียนๆ จบเพียงป.4 แต่ก็เติบโตเป็นเจ้าสัวร้อยล้านพันล้านได้ ขณะที่เด็กยุคใหม่ ซึ่งเติบโตท่ามกลางเทคโนโลยีสมองกล แต่ “ทักษะพื้นฐานในสื่อสาร” ทั้ง “การอ่านการเขียน” กลับพัฒนาสวนทางกับความเจริญในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กไทยที่อยู่บริเวณชายขอบประเทศ ที่พบปัญหา “เด็กใช้ภาษาในชีวิตประจำวันต่างจากครูผู้สอน”

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนพื้นที่แนวชายแดน 30 จังหวัด 45 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่า มีโรงเรียนจำนวน 90 แห่ง ที่ใช้ “ภาษาในชีวิตประจำวัน”เป็นภาษาชาติพันธุ์ ภาษาแม่ ภาษาบ้าน กว่า 30 ภาษา บางโรงเรียนมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันถึง 3 ภาษา จึงไม่น่าแปลกใจถึงปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ และมีปัญหาเด็กหลุดจากระบบกลางคันจำนวนมาก

การจัดเวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 : ผู้นำการเรียนรู้สู่สังคมพหุวัฒนธรรม โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้ทั่วประเทศในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยมีดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานจึงมุ่งนำเสนอ นวัตกรรม “ทวิภาษา” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ถูกคิดค้นเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ในกลุ่มเด็กไทยชาติพันธุ์ ซึ่งเวทีครั้งนี้ สสค.ได้พันธมิตรใหม่จากโรงเรียนบ้านพุย ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่มีนักเรียนสัญชาติไทยเป็น “กะเหรี่ยงโปว์ร้อยเปอร์เซนต์” เช่นเดียวกับโรงเรียนวัดวังก์วิเววังการาม อ.สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนมอญ ผู้คนส่วนใหญ่ร่วมทั้งเด็กรุ่นใหม่ยังรักษาเอกลักษณ์ถิ่นด้วยการใช้ “ภาษามอญ” ในชีวิตประจำวัน

นางปิยพัทธ์ มีอ่วม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพุย และนายนรา สุขวิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม กล่าวตรงกันว่า เมื่อปัญหาคือ เด็กไม่เข้าใจภาษาที่ครูสอน ก็ต้องหา “คนกลาง” มาเป็นสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจ จึงเป็นที่มาของการดึง “ครูถิ่น” ทั้งชาวกะเหรี่ยงโปว์ และชาวมอญมาเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับครูไทย โดยเฉพาะในช่วงอนุบาล 1–2 ซึ่งเด็กจะเริ่มเรียนรู้จากการฟังและพูดจากคนใกล้ตัว ฉะนั้นหากเด็กคุยกับครูไม่รู้เรื่อง ก็จะทำให้เบื่อการมาโรงเรียน และจะขาดความสนใจในชั้นเรียน ครูถิ่นจึงเข้ามามีบทบาทสูงในช่วงปฐมวัย โดยจะมีครูไทยเป็นผู้ออกแบบบทเรียนเพื่อให้เนื้อหาครบตามพัฒนาการทุกกลุ่มสาระ โดยมีครูถิ่นช่วยวิเคราะห์และคิดว่า การสอนและเนื้อหาแบบไหนที่จะเชื่อมโยงให้เด็กชาติพันธุ์เข้าใจมากที่สุด

เริ่มจากการสื่อความหมาย และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เด็กอยากจะสื่อสารให้ตรงกัน โดยใช้ชีวิตประจำวัน และประเพณีในท้องถิ่นมาอธิบาย ก่อนจะปูพื้นฐานสู่การอ่านเขียนในช่วงชั้นที่สูงขึ้น

ในระดับอนุบาล 1 นั้น จะเน้นการสื่อความหมาย และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เด็กอยากจะสื่อสารให้ตรงกัน โดยเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์

ส่วนในระดับอนุบาล 2 ที่เริ่มการอ่านเขียนนั้น โรงเรียนบ้านพุยได้มีการพัฒนาระบบการเขียนภาษากะเหรี่ยงโปว์ โดยใช้ “พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ไทย” กับเทคนิคการเทียบเสียงในภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยงที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้เด็กเข้าใจความหมายให้ได้ก่อนด้วยอักษรภาษาไทย เพราะภาษากะเหรี่ยงไม่มีตัวอักษร ซึ่งสามารถเทียบได้ทั้งหมด 24 เสียง เช่น เสียงภาษากะเหรี่ยงที่อ่านว่า “ช้าง” แต่ความหมายแปลว่า “ไก่” ก็จะใช้ ช.ไก่

หลังจากนั้นจึงเริ่มให้หัดประสมคำ ให้เกิดความหมายด้วยภาษากะเหรี่ยง ด้วยอักษรและตัวสะกด สระ วรรณยุกต์ไทย ด้วยสื่อการสอนกล่อง “ผสมคำ” เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝน มากกว่าการท่องจำคำเป็นตัวๆไป โดยในระดับอนุบาลเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการฝึกทักษะการพูดอ่านเขียนกับครูถิ่น และเรียนภาษาไทยเพียงเล็กน้อยกับครูไทย ก่อนจะขยายเวลาให้เรียนกับครูไทยมากขึ้น จนเต็มเวลาในช่วงชั้นที่สูงขึ้นต่อไป

การเรียนทวิภษา จึงมีเป้าหมายที่ใช้ภาษาแม่ หรือภาษาถิ่นเป็นพื้นฐาน และเป็นสะพานเขื่อมไปสู่การเรียนภาษาไทย ขณะเดียวกันก็จะทำให้เด็กคงความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองอยู่ได้

ผศ.วรรณา เทียนมี ประธานมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ กล่าวถึงปัญหาของโรงเรียนบริเวณพื้นที่ชายขอบว่า “ในแต่ละพื้นที่จะมีภาษาเป็นของตัวเอง แต่เมื่อมาเรียนในระบบ เด็กต้องใช้ภาษาไทย ทำให้เป็นข้อจำกัดและส่งผลให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้ การมาเรียนจึงเปรียบได้กับยาขมหม้อใหญ่ของเด็กๆเหล่านี้ โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ด้านภาษานั้นต้องเริ่มต้นจากการฟังที่เริ่มจากคนใกล้ตัว หัดพูดเป็นคำ และพูดเป็นประโยคในที่สุด หากเด็กมาเริ่มต้นเรียนภาษาจากการอ่านและเขียนจะต้องเป็นการเรียนภาษาที่สอง เช่น การเรียนภาษาอังกฤษต่อจากภาษาแม่ คือ ภาษาไทย เป็นต้น จึงเป็นปัญหาของเด็กชายขอบเหล่านี้ และส่งผลให้เด็กไม่อยากมาเรียนหนังสือ และเลิกเรียนกลางคันในที่สุด”

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค.กล่าวว่า เมื่อภาษาเป็นที่มาในการรู้จักตัวเอง รู้จักอัตลักษณ์ท้องถิ่น ดังนั้นเป้าหมายของการรู้ภาษา จึงไม่ใช่เพียงแค่ “การอ่านออกเขียนได้” แต่ภาษาจะเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้เกิดความปรองดองท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลาย 10 กลุ่ม ซึ่งบางครั้งการศึกษาก็ทำให้เราลืมไปว่า เรามีพี่น้องที่ต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนา แต่เป็นคนไทยด้วยกัน ฉะนั้นการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม “ทวิภาษา” เบื้องหลังคือเราได้เรียนรู้ความต่างในเรื่อง “พหุวัฒนธรรม” จากเพื่อนร่วมชาติ

สสค. คาดหวังว่า ตัวแบบเหล่านี้จะกระจายไปสู่ชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศในประเทศไทย และโรงเรียนชายขอบ เพราะระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้คนเหล่านี้เสมอในการรู้จักวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของเขา ผมเชื่อว่าสังคมที่มีสีสันหลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองได้ เพียงแค่เริ่มจากการเรียนรู้ใหม่ร่วมกันของคนไทยทุกคน

ภาษาจึงไม่ใช่แค่เป้าหมายในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย กนกวรรณ กลินณศักดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code