ถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรม-จัดการสุขภาพชุมชน

ที่มา : แฟนเพจสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม


ภาพประกอบจากแฟนเพจสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม


ถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรม-จัดการสุขภาพชุมชน thaihealth


ถ่ายทอดคุณค่าวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อจัดการสุขภาพชุมชนโป่งตะขบ ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี


จำนงค์ เกษมดาย อดีตผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชน เล่าว่า ชุมชนหวั่นว่าแหล่งโบราณคดีจะเสื่อมโทรม ผุพัง ไร้การเหลียวแล จึงได้หาทางออกกับภาคีเครือข่ายในการร่วมกันอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี โดยได้จัดทำพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบขึ้นภายในโรงเรียน เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้น พร้อมทั้งจัดแสดงหลุมที่ได้มีการขุดเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณคดีของคนในชุมชนและผู้สนใจทั่วไป แต่กลับไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร


กระทั่งในปี 2559 ได้มีการสำรวจข้อมูลด้านสุขภาพของชาวบ้านโป่งตะขบ พบว่าส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคไขมันในเส้นเลือด ความดันโลหิต และเบาหวาน ซึ่งสาเหตุมาจากการไม่ออกกำลังกาย เมื่อชุมชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ ดังนั้นจึงเริ่มอยากออกกำลังกายมากขึ้น และมองเห็นว่าลานกิจกรรมที่จะออกกำลังกายร่วมกันได้นั้น คือ ลานกิจกรรมบริเวณที่ขุดพบโครงกระดูกภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นลานกิจกรรมเพียงแห่งเดียวของหมู่บ้าน


ถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรม-จัดการสุขภาพชุมชน thaihealth


ดังนั้นจึงได้ขอรับทุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการ “ถ่ายทอดคุณค่าวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อจัดการสุขภาพชุมชนโป่งตะขบ ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี” เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณลานกิจกรรมภายในโรงเรียนให้เหมาะสำหรับการออกกำลังกายและเป็นลานกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ของคนในชุมชน และถ่ายทอดความรู้ในการร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ


โดยกิจกรรมจะประกอบด้วย การปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างลานกิจกรรม การอบรมเชิงปฏิบัติการ สร้างนักพัฒนาสุขภาวะชุมชน การระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนผังวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน เช่น แหล่งโบราณคดี ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พื้นที่การเกษตร สังคมและเศรษฐกิจ อบรมยุวมัคคุเทศก์เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมและแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ เตรียมพร้อมรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต และฝึกอบรมทำเครื่องปั้นดินเผา ลูกปัด เพื่อเป็นของที่ระลึกประจำหมู่บ้าน


ถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรม-จัดการสุขภาพชุมชน thaihealth


“นอกเหนือจากชุมชนได้มีลานกิจกรรมได้ใช้ประโยชน์แล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงเรื่องของการถ่ายทอดวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบได้อีกทางหนึ่ง เพราะหากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับการดูแลหรือไม่มีผู้คนเข้าไปแวะเวียน แหล่งโบราณคดีก็จะรกร้างและเสื่อมโทรมได้” นายจำนงค์ กล่าว


การลุกขึ้นมาจัดการและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีของชาวบ้านโป่งตะขบในครั้งนี้ ยังเป็นการช่วยรักษาโบราณวัตถุ โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบบริเวณดังกล่าว มีลวดลายเฉพาะ พบที่นี้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ในส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์ตอนนี้เป็นเพียงแบบชั่วคราว ซึ่งชาวบ้านจะพยายามประสานของบประมาณ เพื่อจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code