ถนนสุขุมวิทแชมป์เกิดอุบัติเหตุปี’51
เหตุผ่าไฟแดงรวมกว่า 30,000 ราย
ที่ บช.น. เมื่อวันที่ 19 ม.ค. พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. ในฐานะรับผิดชอบงานจราจร เปิดเผยสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจนครบาลตลอดปี 2551 โดย 10 ลำดับถนนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุดในเขตกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2551 ได้แก่ 1.ถนนสุขุมวิท 751 ครั้ง 2.ถนนจรัญสนิทวงศ์ 173 ครั้ง 3.ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ 169 ครั้ง 4.ถนนบรมราชชนนี 127 ครั้ง 5.ถนนรัชดาภิเษก 71 ครั้ง 6.ถนนเพชรบุรี 67 ครั้ง 7.ทางด่วน 2 จำนวน 65 ครั้ง 8.ถนนลาดพร้าว 55 ครั้ง 9.ถนนรามอินทรา 50 ครั้ง และ 10.ถนนพระราม 4 จำนวน 30 ครั้ง
สำหรับจุดที่เกิดเหตุบ่อยครั้งในถนนสุขุมวิท ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ได้แก่ สุขุมวิท 24 จำนวน 21 ครั้ง สุขุมวิท 23 จำนวน 16 ครั้ง สุขุวิท 39 และ 40 จำนวน 12 ครั้ง สุขุมวิท 4(แยกนานา)11 ครั้ง สุขุมวิท 18(แยกอโศก)10 ครั้ง ส่วนจุดเกิดเหตุบ่อยครั้งในถนนอื่น ๆ ตลอดทั้งปี ได้แก่ ถนนบรมราชชนนี-แยกบรมราชชนนี(สน.บางยี่ขัน)11 ครั้ง ถนนลาดพร้าว-ซอยลาดพร้าว 101(สน.ลาดพร้าว)และ ถนนเพชรบุรี-แยกอโศกเพชรฯ(สน.มักกะสัน)8 ครั้ง
ทั้งนี้ประโยชน์ที่ได้จากการเก็บรวบรวมสถิติ บช.น.จะได้ประสานกับทางสำนักงานจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร(สจส.)เพื่อปรับปรุงด้านต่าง ๆ เช่น สัญญาณไฟ ตีเส้น ทาสีใหม่ ส่วนทางตำรวจจราจรจะได้จัดเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าระมัดระวังการจราจรและประชาสัมพันธ์ให้เพิ่มความระมัดระวังลดอุบัติเหตุในปีต่อไป
พล.ต.ต.ภาณุ ยังกล่าวถึง จากที่ได้เริ่มใช้ระบบจับภาพ ผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ตั้งแต่ วันที่ 30 ธ.ค.51 โดยส่งหมายเรียกไปยังผู้ครอบครองรถตามปรากฏในการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ขณะนี้ส่งหมายเรียกไปกว่า 30,000 รายแล้วนั้น ปรากฏว่ามีผู้ที่ได้รับหมายเรียกมารายงานตัวชำระค่าปรับแล้ว 448 ราย ทั้งนี้จากการหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค และข้อขัดข้องในการดำเนินการ พบว่ามีปัญหาในเรื่องของการดำเนินการตามมาตรการบันทึกคะแนน ซึ่งในข้อหาฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงนอกจากโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แล้วต้องถูกบันทึกคะแนน 40 คะแนนต่อความผิด 1 ครั้ง
เวลานี้มีปัญหาว่า การจับภาพด้วยกล้องไม่สามารถชี้ชัดผู้กระทำความผิดได้ ทำให้เกรงว่าจะมีการนำบุคคลอื่นที่ไม่ได้ขับมาบันทึกคะแนนแทนกัน เพื่อไม่ให้ถูกยึดใบอนุญาตขับรถ เนื่องจากตามกฎหมายระบุว่า หากทำผิดซ้ำข้อหาภายใน 1 ปี ก็จะถูกบันทึกคะแนนเกิน 60 คะแนน ต้องถูกยึดใบอนุญาตขับรถไม่เกิน 90 วัน และต้องเข้าอรมและทดสอบความรู้จราจร จึงได้ใบอนุญาตขับขี่คืน ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหา จึงให้ระงับการตัดแต้มผู้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟที่ใช้ระบบนี้ไว้ก่อน
ส่วนแยกอื่น ๆ ที่ไม่มีกล้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่อยู่ประจำทางแยก ก็สามารถ กวดขันจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟได้ตามปกติ และไม่มีปัญหาในส่วนของการบันทึกคะแนน เพราะสามารถขอใบอนุญาตผู้ที่ขับรถในขณะนั้นได้ทันที ส่วนการชำระค่าปรับกำหนดอัตราค่าปรับไว้ที่ 500 บาท และสามารถส่งอายัดการต่อทะเบียนรถคันที่ปรากฏตามภาพได้ โดยในส่วนของรถที่ผ่อนชำระกับบริษัทไฟแนนซ์ ทาง บริษัทฯ จะเป็นผู้มาชำระค่าปรับก่อนเพราะเจ้าหน้าที่จะส่งหมายเรียกไปยังผู้ครอบครองรถในลำดับแรก จากนั้นบริษัทไฟแนนซ์จึงจะไปเรียกค่าปรับจากการทำความผิดนั้นจากผู้ซื้อซึ่งไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update 20-01-52