ตุ้มโฮม บุญผะเหวด บ้านศรีสำราญ งานบุญลดความขัดแย้งชุมชน
ถึงจะออกตัวว่าไม่เชี่ยวชาญเรื่องข้อมูลที่มา แต่พอขอร้องให้ช่วยอธิบายพอเข้าใจ “ดิว” ลดาวัลย์ มั่นเรืองศรี โรงเรียนสามหมอวิทยา จ.ชัยภูมิ ก็เล่าถึง “บุญผะเหวด” ได้น่าฟังไม่แพ้ใคร อาจเป็นเพราะงานบุญมหาชาติรอบนี้ ที่ บ้านนามน-บ้านสำราญ-บ้านนาฮี จ.ชัยภูมิ เมื่อกลางเดือนมีนาคม มีความหมายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
“เป็นการกลับมาจัดงานใหญ่อีกครั้ง หลังจากชุมชนของเราไม่ได้จัดไปช่วงหนึ่ง อีกทั้งพอมีงานครั้งนี้เกิดขึ้น คนในชุมชนก็วางข้อตกลงไว้ว่าจะจัดต่อเนื่องกันไป 2-3 ปี ตามธรรมเนียมที่สมบูรณ์” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสำราญ กล่าว
เท้าความไม่นานพอเชื่อมโยงให้งานบุญรอบนี้พิเศษกว่าครั้งไหนๆ “ทรงศิริ นราพงษ์” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสำราญ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ อธิบายว่า ชุมชนของพวกเขากำลังประสบปัญหาความขัดแย้งจากสาเหตุการแบ่งฝักฝาย หลังผ่านการเลือกตั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นหลายครั้ง
“มีการเลือกตั้งทีไร ชาวบ้านเหมือนต้องเลือกข้าง ต่างฝายต่างแข่งขันกัน แม้พอเลือกตั้งจบก็จริง แต่ความแบ่งพวกมันยังอยู่ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเผชิญและร่วมแก้ปัญหา” นายทรงศิริ ว่า
เมื่อได้ไปร่วมอบรม “สุขแท้ด้วยปัญญา” กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายพุทธิกา แนวทางหลักแห่งการสร้างสุขแบบไม่พึ่งวัตถุ จึงถูกประยุกต์เป็นกิจกรรม “ปัญญาดี ศรีสำราญ” เพื่อสอดคล้องกับปัญหาที่เผชิญอยู่
“เมื่อความทุกข์ของชุมชนเรา คือการที่สังคมถูกแบ่งฝ่าย การสร้างกิจกรรมสมานรอยร้าว สร้างความสามัคคีจึงเริ่มขึ้น พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจหลักการประชาธิปไตย” นายกเล็ก ศรีสำราญ อธิบาย
“โดยประเด็นหนึ่งที่เราเห็นร่วมกันว่า น่าจะช่วยให้เราหันกลับมามองตัวเอง คือการค้นหาเชื่อมโยงวัฒนธรรม ประเพณี ความดีงาม ที่เคยมีในอดีตแต่เลือนหายไปในปัจจุบันให้กลับมาและ “บุญผะเหวด” เป็นชื่อแรกที่ระดมสมองสร้างกิจกรรมนึกถึง”
“ชาวบ้านจะคิดได้ว่าชุมชนของเรานั้นมี “ราก” บอกวิถีชีวิต ซึ่งรากชนิดเดียวกันนี้เอง ที่อธิบายว่าชุมชนศรีสำราญอยู่มาได้อย่างมีความสุข ก่อนจะรู้จักการเลือกตั้งด้วยซ้ำ หรือมีอำนาจใดๆ ด้วยซ้ำ”
“ตุ้มโฮม บุญผะเหวด” ของบ้านศรีสำราญรอบนี้ จึงคึกคักกว่าที่เคย ด้วยมีชาวบ้าน เด็กนักเรียน สมาชิก อบต.ร่วมวง พร้อมกับแห่ขบวนไปรอบเมือง
กล่าวถึงงานบุญผะเหวด “ดิว” อ้างอิงคำบอกเล่าจากญาติและคำสอนครูว่า เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองของชาวอีสาน ว่าด้วยการเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก หรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยะเมตไตรย์ แต่ถ้าหากตั้งบูชาไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมา ทุกคนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก
“อีกประการหนึ่งคือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า กิจกรรมนี้จึงเป็นเหมือนกับนำสัญลักษณ์ของความเสียสละการให้ หรือการมีจิตอาสาของคนในสังคม มาร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งจะโยงไปถึงความร่วมไม้ร่วมมือที่จะเกิดในระดับตำบลด้วย”
ส่วน “เนย” ภัสสร เบิบชัยภูมิ นักเรียนโรงเรียนสามหมอ ซึ่งแสดงเป็นนางมัทรี มารดาของ พระกัณหา-ชาลี ตัวละครหนึ่งในเทศน์มหาชาติ พระเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นเรื่องราวอ้างอิงของงานบุญผะเหวด มองว่า กิจกรรมที่พวกเธอทำอยู่นี้มีมากกว่าเรื่องความเชื่อในชุมชน ด้วยเมื่อมี “งานบุญ” เป็นผู้ประสาน ชาวบ้านในชุมชนจะไม่ปฏิเสธที่จะร่วมงานด้วย
“จากที่ได้แค่มองกัน ไม่เคยคุยกัน เขม่นกันตอนหาเสียงเลือกตั้งก็กลับมาพูดกันอีกครั้ง” เนยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงที่พบเห็น
เช่นเดียวกับที่ให้ชาวบ้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาชุมชนได้มีส่วนเรียนรู้ปัญหาของชุมชนตนเอง การให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมผ่านประเพณีเก่าแก่ จากผู้เฒ่าในชุมชนแทนการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
“ที่สำคัญคือ เน้นการเสียสละ-การให้ ในเทศน์มหาชาติตอนหนึ่งพระเวส สันดรต้องมอบโอรส-ธิดาให้ชูชกไป ซึ่งแม้นางมัทรีภรรยาจะเสียใจ แต่นั่นก็เพื่อบำเพ็ญบุญบารมี การให้ครั้งนั้นนำไปสู่การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ สามารถช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้มากกว่า”
เมื่อลองตั้งโจทย์ว่า กรณีเช่นนี้จะเกี่ยวกับความขัดแย้งในชุมชนศรีสำราญได้อย่างไร เนย หยุดคิด ก่อนจะว่า คล้ายกันในเรื่องของการยึดถือประโยชน์ส่วนรวม
“หากเราใช้ปัญญา ยึดส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ความอยากจะเอาแต่ใจตัวเองก็คงไม่เกิด ไม่ต้องทะเลาะกันบนความรู้สึกอยากเอาชนะ” น้องเนย กล่าว
บุญผะเหวดรอบนี้จึงมีความหมายกว่าครั้งไหน…
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง