ตื่น ‘โรคหนังเน่า’ พุพองถึงตัดขา
รักษาช้าอาจตายได้!!
ยโสธรป่วยโรคหนังเน่าตายแล้ว 5 คน แพทย์ชี้เกิดจากแบคทีเรีย ผิวหนังพองไข้สูงข้ามวันต้องตัดขา หากรักษาไม่ทันถึงตาย
นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร เปิดเผยว่า จากสถิติการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลยโสธร พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคหนังเน่า หรือที่เรียกทางการแพทย์ว่า necrotizing fascilitis เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 หมื่นบาทต่อคน ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 เดือน อัตราการดำเนินของโรคค่อนข้างเร็ว จากเดือนตุลาคมปี 2551 – 2552 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย โรงหนังเน่ามักเกิดในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ และผู้ที่รับประทานยาที่มีสเตียรอยด์ เช่น ยาชุด ยาลูกกลอนเป็นประจำ อาการที่สำคัญคือ มีแผล บวม แดง ร้อน แผลลุกลามเร็วกินลึกเข้าไปถึงชั้นกระดูก หากรักษาไม่ทันจะติดเชื้อในกระแสโลหิตและเสียชีวิตในที่สุด
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนป้องกันตัวเองด้วยการรักษาความสะอาดของร่างกาย ตัดเล็บให้สั้นและล้างมือให้สะอาด เมื่อเกิดแผล เช่น หนามทิ่มตำ หรือบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ ให้ล้างทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสบู่ หากมีการปวด บวม แดง ร้อน ให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานีอนามัยใกล้บ้านทันที ไม่รับประทานยาชุด ยาลูกกลอน หรือยาที่มีสารสเตียรอยด์ เสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำ
ด้าน นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคหนังเน่าไม่มาก ประมาณปีละไม่ถึง 1 หมื่นราย ยกตัวอย่างเช่น ทั่วประเทศมีผู้ป่วยเบาหวาน 3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอัตราการเกิดโรคไม่ถึง 1% โรคนี้เกิดจากแบคทีเรียหลายชนิดรวมกัน เมื่อผู้ป่วยเป็นแผลโดยเฉพาะบริเวณส่วนล่างของร่างกายและเท้า หากทำแผลไม่ดีจะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายและเท้าทางแผลลุกลามต่อไปยังเนื้อเยื่อพังผืด และเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้เสียชีวิต
“เชื้อแบคทีเรียนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกระจายตัวเร็วนับเวลาเป็นชั่วโมง หากติดเชื้อแล้วทิ้งไว้ข้ามวันอาจทำให้ต้องตัดขาทิ้ง และหากได้รับการรักษาไม่ถูกต้องและทันเวลา โอกาสเสียชีวิตสูงและรวดเร็วนับเวลาเป็นวัน ส่วนจะกี่วันไม่สามารถระบุได้ แต่หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลาโอกาสเสียชีวิตจะน้อย” นพ.เรวัตกล่าว
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวอีกว่า โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกฤดูกาล แต่อาจเกิดขึ้นมากในช่วงฤดูฝน ที่เกษตรกรมีการทำสวน ทำไร่และทำนาจำนวนมาก จึงมีโอกาสโดนหนามหรือเศษกระเบื้องตำที่เท้าจนเกิดเป็นแผลได้ง่าย กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังโรคนี้เป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ร่างกายไม่แข็งแรง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเท้าของผู้ป่วยเบาหวานเลือดไปเลี้ยงไม่ดี ทำให้เท้าชา เมื่อเกิดแผลไม่รู้สึกเจ็บ ผู้ป่วยไม่ให้ความสนใจในการทำแผล เชื้อแบคทีเรียจึงเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย รวมถึงผู้ป่วยโรคตับแข็งและผู้ที่รับประทานยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ สำหรับผู้ที่ร่างกายแข็งแรงก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้แต่อัตราน้อย
นพ.เรวัตกล่าวด้วยว่า อาการของผู้ป่วยโรคนี้ ผิวหนังจะโป่งพองเหมือนน้ำร้อนลวก น้ำที่เจาะออกมาจะมีสีดำคล้ำ มีไข้สูง ในการรักษาแพทย์จะทำการผ่าระบายหนองออก ตัดเนื้อเยื่อที่เน่า และให้ยาปฏิชีวนะชนิดเข้มข้น หากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตจากการที่ติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการของตนเองได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคที่มีความเสี่ยง หากผิวหนังปวด บวมแดงร้อนและมีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที ไม่ควรชะล่าใจว่าเป็นแผลธรรมดาไม่ช้าก็จะหาย ในการป้องกันโรคนี้สามารถทำได้ด้วยการใส่รองเท้าเมื่อต้องออกไปเดินนอกบ้านหรือทำไร่ ทำสวน ทำนา เพื่อไม่ให้เกิดแผลบริเวณส่วนล่างของร่างกาย
อนึ่ง จากรายงานการเฝ้าระวังโรคหนังเน่ารายใหม่ของ จ.ยโสธร ในปี 2550 ตั้งแต่วันที่ 1 มาราคม – 21 กันยายน 2550 พบผู้ป่วย 79 ราย มากที่สุดที่ อ.เมือง 39 ราย รองลงมาคือ อ.คำเขื่อนแก้ว 10 ราย อ.เลิงนกทา 9 ราย อ.กุดชุม 8 ราย โดยพบมีการระบาดมากในระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทำนาและเป็นฤดูฝน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือกลุ่มอายุ 55 – 64 ปี และ 45 – 54 ปีตามลำดับ พบผู้ป่วยอายุมากที่สุด 84 ปี อายุน้อยที่สุด 28 ปี เป็นผู้หญิงมากกว่าชาย 18 เท่า
เมื่อวิเคราะห์ผู้ป่วยที่เป็นโรคหนังเน่าแต่ละราย พบว่าเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวคือเป็นโรคเบาหวานมากที่สุดถึงร้อยละ 58 รองลงมา ได้แก่ โรคอ้วนร้อยละ 32 เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ถูกของมีคมบาท เหยียบตะปู หนามทิ่มตำมีแผลพุพอง ฯลฯ ร้อยละ 25 และเกิดจากการกินยาชุดเป็นประจำร้อยละ 23
โดยเฉพาะยาชุดนั้นมีอันตรายมาก ส่วนใหญ่มักจะมีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ ยาต้านอักเสบและยาแก้ปวด ซึ่งชาวนาชาวไร่ เกษตรกรมักชอบกินแก้ปวดแก้เมื่อยหลังทำงาน รวมทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการปวดข้อ ปวดเมื่อย
ยาประเภทนี้หากใช้ไปนานๆ ยาจะไปกดภูมิต้านทานในร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย ทำให้ผิวหนังบางลง และเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน ชาวบ้านไม่ควรซื้อกินเองอย่างเด็ดขาด การใช้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update 25-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
– “โรคผิวหนัง” บ่งชี้ภาวะโภชนาการขาด-เกิน
– “หนังแข็ง” โรคที่พบยากแต่ทุกข์ทรมาน
– แพทย์เตือน “คนไทยเครียด” เสี่ยงโรคผิวหนัง