ตากแดดแล้วเป็นมะเร็งผิวหนัง
ข้อเท็จจริงคืออะไรกันแน่?
มะเร็งผิวหนัง เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย ประมาณร้อยละห้าของมะเร็งทั้งหมด แต่มีลักษณะพิเศษต่างจากมะเร็งอื่นๆ ก็คือ ผู้ที่เป็นสามารถที่จะรู้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การป้องกันรักษาจึงสามารถทำได้ตั้งแต่ต้น ทำให้ผลการรักษาดี และผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคสูงกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ ดังนั้น พวกเราจึงควรจะรู้จักเอาไว้ เพื่อที่จะได้รู้จักลักษณะต่างๆ ที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เพื่อที่เราจะได้สามารถรักษาได้ทันท่วงที และหายขาดจากโรคได้และไม่ต้องเสียชีวิตจากมันนั่นเอง
มะเร็งผิวหนัง มักเป็นในคนผิวขาว เพราะคนผิวขาวคือคนที่ไม่มีเซลล์เม็ดสี หรือที่เราเรียกกันว่า เมลาโนไซท์ (melanocyte) หรือมีน้อยมากนั่นเอง แม้คนส่วนใหญ่จะนิยมผิวขาวว่าสวยงามดีกว่าผิวดำ แต่แท้ที่จริงแล้วคนผิดขาวนั้น คือผู้ที่อ่อนแอกว่าคนผิวดำ เนื่องจากไม่มีเซลล์เม็ดสีคอยช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดด และรังสีต่างๆ ให้
เมื่อเวลาเราโดนแสงแดด เซลล์เม็ดสีจะสร้างสีดำขึ้นมาปกปิชั้นที่อยู่ใต้มันเอาไว้ เหมือนกับคนเรากางร่มเวลาโดนแดดจัดๆ ด้วยเหตุ คนผิวคล้ำจึงมักไม่เกิดอันตรายจากแสงแดดเท่าไร ต่างจากคนผิวขาวซึ่งถูกแดดแล้วเกิดเป็นอันตรายเนื่องจากไม่มีเม็ดสีคอยปกป้อง คนผิวขาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกฝรั่งจึงเป็นมะเร็งมากกว่าคนไทยเรา หรือพวกนิโกร
พวกเราส่วนมากได้รับการสั่งสอนให้ไปตากแดดบ้างเพื่อผิวหนังจะได้สร้างวิตามินดี และจะทำให้กระดูกแข็งแรง จนทำให้หลายๆ คนไปตากแดดอยู่ทั้งวันจนตัวดำเป็นเหนี่ยง ด้วยหวังอยาจะได้วิตามินดีมากๆ แต่ความจริงแล้ว การตากแดดตอนรุ่งเช้าหรือตอนย่ำค่ำเพียงสิบห้านาที ผิวหนังก็สามารถสร้างวิตามินดีได้อย่างเพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องไปตากแดดทั้งวัน การตากแดดตอนกลางวันกลับเป็นอันตรายมากกว่า เนื่องจากในแสงแดดนั้น มีรังสียูวีอยู่ แบ่งเป็น ยูวีเอ ยูวีบี และยูวีซี รังสียูวีซี รุนแรงสูงสุด แต่เราไม่โดนเพราะถูกชั้นบรรยาการบังเอาไว้ เราจะโดนทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี ซึ่งถ้าโดนในตอนกลางวัน ช่วงสิบโมงเช้าไปจนถึงสามโมงเย็น จะโดนเต็มๆ มากที่สุด และสามารถจะก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้มากที่สุด เราจึงควรจะหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลาดังกล่าว
บางท่านชอบทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันแสงยูวีซึ่งเราจะรู้ก่อนว่า ครีมกันแดดเหล่านั้นกันเฉพาะยูวีบีเป็นหลัก โดยเราควรเลือกที่มี spf (sun protection factor) มากกว่า 15 ขึ้นไป จึงจะพอกันรังสีได้ แต่ไม่ได้กันรังสียูวีเอ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่กันได้ โดยเราจะสังเกตเห็นสัญญลักษณ์เป็นรูปวงกลมมีตัวอักษร uva อยู่ข้างใน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า ครีมหลายๆ ยี่ห้อที่โฆษณาขายกันในเมืองไทย มี spf น้อยกว่าที่เขียนไว้ข้างขวดอย่างมาก ดังนั้น การจะใช้ครีมพวกนี้ในขั้นแรก ควรใช้ครีมที่มีขายในโรงพยาบาลจะได้มาตรฐานกว่า
ลักษณะของมะเร็งผิวหนังมีได้หลายแบบ แต่มีลักษณะโดยรวมที่เราควรระวัง คือ ชนิดที่เป็นไฝ จะมีลักษณะขอบไม่เรียบ มีสีไฝไม่สม่ำเสมอ ขนาดโตมากกว่า 6 มม. หรือมีไฝที่ปกติอยู่ดีๆ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แล้วกลับมาโตใหญ่ขึ้น หรือผิวหนังที่มีลักษณะนูนแข็งๆ โตขึ้นเรื่อยๆ หรือเป็นแผลขอบนูนขึ้น พื้นแผลแข็งๆ เป็นนานๆ ไม่ยอมหาย หรือโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราพบลักษณะอย่างนี้ที่ใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่สามารถโดนแสงแดดได้บ่อยๆ เช่น ใบหน้า แขน ขา เป็นต้น ก็ขอให้ตระหนักไว้ และรีบไปพบแพทย์โรคผิวหนังโดยเร็ว ซึ่งแพทย์ก็จะทำการตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจดู และถ้าเป็นมะเร็งก็จะต้องไปผ่าตัดต่อไป
การผ่าตัด สิ่งที่เราจะต้องคำนึง คือ ต้องทำให้หายขาดถ้าทำได้ ดังนั้น ในการตัดเราจึงตัดห่างจากขอบแผลอย่างมาก แผลผ่าตัดจึงกินบริเวณกว้างกว่าก้อนมากมาย ถ้าเราไปตัดกับแพทย์ธรรมดา การเย็บปิดก็จะทำได้ลำบาก และบริเวณผ่าตัดจะถูกดึงรั้งจนเสียรูป และแผลแยกได้ ดังนั้น การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังพวกนี้ จึงต้องไปพบแพทย์เฉพาะทาง นั่นก็คือ แพทยัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งไม่ใช่ทำเฉพาะความงามอย่างเดียว อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่แพทย์เหล่านี้สามารถตัดผิวหนังใหญ่ๆ ออก และมีวิธีเย็บปิดที่ทำให้แผลดูสวยงาม หรือสามารถนำหนังที่อื่นหรือย้ายผิวหนังทั้งชิ้นจากที่อื่นมาปะแทนบริเวณที่ตัดออกไปได้ ทำให้แผลดูสวยงามมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะได้ทั้งความปลอดภัย และความสุขเวลาดูแผลตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะต้องผ่าตัด ถึงอย่างไรก็ยังไม่สามารถทำให้เหมือนของเดิมได้อย่างสมบูรณ์อย่างแน่นอนที่สุด
ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุด ก็คือ การป้องกันโดยการพยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด ในช่วงกลางวัน และพยายามหาสิ่งมาปกปิด เช่น กางร่ม หรือ ทาครีมกันแดดที่ดี มีมาตรฐาน เลือกให้ดีๆ ก่อนจะนำมาใช้ หมั่นตรวจตราสังเกตผิวของเราเอง หรือญาติพี่น้องเราบ้างว่ามีลักษณะโตผิดปกติ มีเลือดออกง่ายผิดปกติหรือเปล่า รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็ว เท่านี้เราก็สามารถป้องกันตัวเองจากมะเร็งผิวหนังได้แล้ว
ที่มา : สุขสาระประจำเดือนกันยายน 2553
update:22-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ