ตัวร้อนจัดไม่มีเหงื่อ หาหมอ
เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
ระวังร้อนตับแตก เผยปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด 4 ราย ขนาดทหารก็ยังทนไม่ไหว ยิ่งปีนี้อากาศร้อนขึ้นยิ่งต้องระวัง ดื่มน้ำมากๆ ถ้าตัวร้อนจัด ไม่มีเหงื่อออก ให้รีบเช็ดตัวนำส่งแพทย์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อากาศที่ร้อนจัดจนมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นความจริง โดยในปี 2551 มีผู้ป่วยเป็นโรคลมแดด หรือป่วยจากอากาศที่ร้อนจัดถึง 80 ราย และเสียชีวิต 4 รายจากหลายพื้นที่ เช่น จ.มุกดาหาร นครราชสีมา และนครสวรรค์ ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนขณะนี้กระจายไปทั่วประเทศ และพื้นที่ที่น่าห่วงมากคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคลมแดด คือ 1.หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด พยายามอยู่ในที่ร่มโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 2.ดื่มน้ำมากๆ 3.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง 4.หากร้อนจัดแล้วเหงื่อไม่ออก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนในตัวออกมา และเป็นการลดความร้อนภายในร่างกาย 5.หากมีอาการของโรคลมแดด คืออาการกระหายน้ำ ตัวร้อน แต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจถี่ ปากคอแห้งและอาจวิงเวียนศีรษะ ขอให้รีบไปพบแพทย์
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคลมแดดเป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกินไป อาจจะเกิดขึ้นในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงก็ได้ จัดเป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไต รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 17-70
อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าวยังเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รู้จักวิธีการป้องกัน โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข และแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเผยแพร่ประชาชนแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ
นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า ในการป้องกันอันตรายในช่วงที่สภาพอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุดคือประชาชนจะต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน หากทำงานกลางแดดควรสลับมาทำงานในที่ร่มเป็นครั้งคราว เนื่องจากผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอจะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับอากาศร้อนได้ เพราะน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะพยายามปรับอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ในการสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมหรือไม่ สามารถสังเกตง่ายๆ จากสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะสีเหลืองเข้มและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะต้องดื่มน้ำให้มากๆ ทั้งนี้ ในปี 2552 มีรายงานผู้ป่วยโรคลมแดดใช้สิทธิบัตรทองเข้ารักษาในโรงพยาบาล 32 ราย และมีทหารเข้ารักษาที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า 8 นาย เสียชีวิต 3 นาย ในปี 2553 ป่วยแล้ว 5 นาย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update:12-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร