‘ตะนาวศรี เทรล’ ทางกันไฟ ทางวิ่ง ทางเดียวกัน
ท้องถนนในเมืองใหญ่ เริ่มเป็นเรื่องยากที่เราจะจัดงานวิ่ง จะเห็นว่านักวิ่งทั่วโลกพยายามเข้าหาธรรมชาติ เข้าหาป่า หรือที่เราเรียกกันว่า "การวิ่งเทรล" ซึ่งถือเป็นแนวโน้มใหม่ของการวิ่งในโลกปัจจุบันนี้
นายณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนกิจกรรมทางกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงที่มาในการจัดงานวิ่ง "ตะนาวศรีเทรล" หรือ Tanaosri Trail-TNT 50 ภายใต้แนวคิด "ทางวิ่ง ทางกันไฟ ทางเดียวกัน" ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 ที่จะถึงนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเส้นทาง 25 กิโลเมตร รอบอุทยานธรรมชาติวิทยาในเขตป่าตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี รับมือกับปัญหา ไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
"ทางกันไฟ" เป็นวิธีรับมือกับไฟป่าที่ทุกคนพอจะช่วยกันทำได้ นั่นคือ การทำให้เกิดเส้นทางที่มีระยะห่างระหว่างต้นไม้สองข้างทาง กว้างประมาณ 2 เมตร เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง ซึ่งนอกจากนี้ยังเป็นการขยายทางเดินเพื่อให้ชาวบ้านได้สัญจรเข้าไปในป่าและเพื่อช่วยกันดับไฟป่าได้อย่างสะดวกมากขึ้นนั่นเอง
"เทือกเขาตะนาวศรีเป็นภูเขาที่ยาวที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดตากถึงระนอง และพื้นที่ป่าตะนาวศรีบริเวณอำเภอสวนผึ้งก็ยังมีชนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่ นั่นคือ ชนพื้นเมืองเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งในการจัดงานวิ่งครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเจ้าบ้าน ทั้งผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยง ผู้บริหารโรงเรียน และชาวบ้าน รวมไปถึงอาสาดับไฟป่า" นายณรงค์เล่า
นายณรงค์ เทียมเมฆ
นายณรงค์บอกอีกว่า สำหรับคนรักป่า ที่นี่ยังสวยงาม คงสภาพธรรมชาติ มีความยาก ท้าทาย และรื่นรมย์ สลับกันไปทุกระยะ 200 เมตร มีหลายฝ่ายในท้องถิ่นออกมาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ด้วยจิตวิญญาณของคนสวนผึ้ง ผสานกับทีมจัดการที่เปี่ยมด้วยจิตอาสาและทำการบ้านมาอย่างดี จึงมั่นใจว่าตะนาวศรี เทรลจะสร้างความประทับใจให้กับนักวิ่งสายป่าได้อย่างแน่นอน
งานนี้เบอร์วิ่งนับพันหมายเลขจำหน่ายหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะทาง 50-25-10 และ 3 กิโลเมตร จุดน่าสนใจของสนามนี้คือ นักวิ่งระยะ 25 และ 50 กิโลเมตรได้วิ่งขึ้นไปบนยอดเขาแหลม ซึ่งเป็นจุดที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์แบบ 360 องศา มองเห็นไกลถึงเขตแดนประเทศเมียนมาเลยทีเดียว และถือเป็นครั้งแรกที่อุทยานธรรมชาติวิทยามีกิจกรรมในลักษณะนี้ด้วย
ตัวอย่างเสื้อผู้พิชิต (FINISHER)
อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ นักประวัติศาสตร์แห่งสวนผึ้ง ปราชญ์ของชุมชนกะเหรี่ยง บอกเล่าถึงไฮไลท์ในการจัดงานวิ่งครั้งนี้ว่า เหรียญที่ระลึกที่ทางเจ้าบ้านตั้งใจจะมอบให้กับนักวิ่ง มาจากเมล็ดของต้นพระเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยเปรียบเทียบว่า การวิ่งที่เทือกเขาตะนาวศรี คือการวิ่งเข้าหาพระพุทธเจ้า หรือวิ่งเข้าหาธรรมะนั่นเอง
นอกจากนี้ยังเป็นการย้ำเตือนด้วยว่า สวนผึ้งเป็นอำเภอที่มีธรรมชาติป่าไม้สมบูรณ์ มีต้นผึ้งที่ผึ้งมาทำรังบนที่สูง ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออำเภอ การมาเที่ยวสวนผึ้งจึงต้องมาทำความรู้จักกับป่า กับชุมชน สัมผัสความงามความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
"ผมว่าไปสวนผึ้ง ถ้าเหงื่อไม่ออก ถ้าไม่เหนื่อย แสดงว่าไม่รู้จักสวนผึ้ง มาไม่ถึงสวนผึ้ง และยังไม่ได้รับการปลดปล่อย" นักประวัติศาสตร์แห่งสวนผึ้งทิ้งท้าย
เสียงยืนยันจากอาสาสมัครผึ้งงานสู้ไฟป่า "ใจ คำแพง" ชาวตำบลสวนผึ้ง ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มากว่า 40 ปี และคุ้นชินกับการดับไฟป่าเล่าว่า โดยปกติแล้วชาวบ้านในพื้นที่ก็จะมีการสำรวจและทำแนวกันไฟอยู่เสมอเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า และเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปในป่าได้อย่างทันท่วงทีหากเกิด ไฟไหม้
อาสาสมัครผึ้งงานสู้ไฟป่ายังเล่าว่า ช่วงหน้าฝนก็จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่พอหน้าร้อนไฟป่าจะเกิดได้ง่าย แต่ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์ขั้นรุนแรงที่ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเพราะมีการระดมพลทั้งจากชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ และชาวบ้านทั้ง 8 หมู่บ้านในอำเภอสวนผึ้งช่วยกันเข้าไปสำรวจ พัฒนาทางกันไฟอยู่ตลอด นอกจากนี้ยังมีการอบรมอาสาสมัคร เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างสม่ำเสมอ
ทุก ๆ ก้าวของนักวิ่งที่มีส่วนป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า แม้ว่าอาจจะฟังดูเล็กน้อย แต่มันจะเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของทุกคน ให้คิดถึงและอยากกลับมาสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ที่ตะนาวศรี เทรลอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ขอบคุณภาพประกอบจาก Tanaosri Trail ตะนาวศรี เทรล – TNT50