ตลาดสุขใจ…โดยชนชรา ต้นแบบหีบห่อจากธรรมชาติ
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
จากกระแสการรณรงค์ลดใช้ถุง หลอด และภาชนะใส่ของที่ทำจากพลาสติกให้ได้ในปี 2565 แต่ก็มีข้ออนุโลมในกรณีของเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังที่สามารถใช้ได้ แต่เชื่อว่าหลายคนคงเป็นห่วงทั้งเด็กและผู้สูงวัย ที่มักเจ็บป่วยได้ง่ายด้วยการใช้วัสดุห่ออาหารที่มีสารปนเปื้อนดังกล่าว
จากการรณรงค์งดใช้พลาสติกข้างต้น จึงเป็นที่มาของ “ตลาดสุขใจ” ที่ตั้งอยู่ในสวนสามพราน จ.นครปฐม ซึ่งก่อเกิดขึ้นในช่วงปี 2561 โดยเปิดทุกเสาร์-อาทิตย์ เวลาประมาณ 09.00-16.00 น. ทั้งนี้ ไฮไลต์ของตลาดเพื่อสุขภาพแห่งนี้ คือ การที่พ่อแม่ค้าซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคุณลุงคุณป้านั้น ตกลงกันที่จะเลือกใช้หีบห่อสิ่งของมาจากธรรมชาติให้กับลูกค้า และขายผักผลไม้อินทรีย์ปลอดสารพิษ
เจ้าหน้าที่ประจำ “ตลาดสุขใจ” เปิดเผยว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของตลาดสุขใจเป็นคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ รวมถึงพ่อแม่คนรุ่นใหม่ที่มีลูกเล็ก ๆ ทั้งนี้ จุดเด่นของตลาดแห่งนี้ นอกจากผู้ค้าขายและผู้บริโภคจะเป็นคนสูงวัยเป็นหลักแล้ว เหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ขายวัยเกษียณยังได้สรรหาและเตรียมวัสดุมาใช้ห่อพืชผักสินค้าที่คำนึงถึงสุขภาพ สุขอนามัยของลูกค้าให้สมกับเป็นตลาดอินทรีย์ จึงต้องมีการทำการบ้าน เรียนรู้ สังเกต และพัฒนาควบคู่กันไป ทั้งนี้ “ตลาดสุขใจ” หรือ “ตลาดอินทรีย์” เริ่ม Go Green อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 ได้รับความร่วมมือจากร้านค้าและเกษตรกรที่นำของมาจำหน่าย รวมถึงลูกค้าที่มาใช้บริการยังตลาดแห่งนี้ได้พกถุงผ้า ตะกร้า ปิ่นโต แก้วน้ำ กระบอกน้ำ มาใช้เองด้วย
สำหรับการปรับเปลี่ยนของพ่อค้าแม่ค้าสู่วิถีการรักษ์โลกนั้น นอกจากจะมีการใช้วัสดุธรรมชาติมาใช้บรรจุพืชผักและอาหารให้ลูกค้า เช่น มีการนำใบบัวหลวง ใบตอง มาห่อพืชผัก แถบเติมความกิ๊บเก๋ เอาเชือกกล้วยมามัด ผูกปมเป็นหูหิ้ว นำเชือกกระสอบมาสานเป็นตาข่ายไว้ใส่ผลไม้ เช่น มะเฟือง เอาเข่งเล็ก ๆ มาใส่ผลไม้โชว์หน้าร้าน ถ้าลูกค้าสนใจซื้อก็สามารถซื้อกลับได้ แล้วยังมีการเปลี่ยนจากใช้ถุงหิ้วพลาสติกเป็นถุงกระดาษ กล่องกระดาษ หรือใช้เชือกร้อยเป็นหูหิ้วถุงบรรจุอาหาร ดังจะเห็นลูกค้าหิ้วไปใส่ตะกร้าหรือใส่รถ โดยลูกค้าเริ่มชินกับพกถุงผ้า ตะกร้า มาใส่ของ ขณะที่ลูกค้าหลายรายนำปิ่นโต ทัปเปอร์แวร์ มาใส่อาหารแทนการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงการพกพาแก้วน้ำดื่มมาเอง ส่วนหลอดพลาสติกที่มักใช้กับเครื่องดื่ม รวมถึงมะพร้าว น้ำสมุนไพร ก็มีการปรับเปลี่ยนมาใช้หลอดจากวัสดุธรรมชาติมาแทน เช่น หลอดตะไคร้อินทรีย์ หลอดจากปล้องต้นข้าวอินทรีย์ หลอดกระดาษ และหลอดทำจากใบตองล้างสะอาด ทั้งนี้ สิ่งที่คนวัยเกษียณที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า ตลอดจนผู้บริโภควัยกลางคน ได้รับจากการเลือกใช้หีบห่อบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาตินั้น นอกจากสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคภัยอันเนื่องจากการสะสมสารเคมีจากภาชนะที่ทำจากพลาสติกแล้ว ยังทำให้ผู้สูงอายุได้กลับไปสู่วิถีชีวิตในแบบเดิม ๆ หรือสมัยวัยเด็กได้ เนื่องจากเกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นถุงพลาสติกนั่นเอง”
ด้าน ธัชพล ภาคพูลไพ อายุ 58 กลุ่มเกษตรอินทรีย์ คลองบางแก้ว ตำบลท่ากระชับ เล่าว่า สินค้าหลักที่ขายคือพืชผักอินทรีย์ เช่น คะน้า กวางตุ้ง หลังจากตลาดมีนโยบาย Go Green ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ใบตอง โดยจะเป็นใบตองจากกล้วยตานีที่ปลูกไว้รอบ ๆ สวน และมีการปลูกต้นกล้วยเพิ่ม เพื่อนำใบกับเชือกกล้วยมาใช้ห่อผักสด ซึ่งก่อนนำมาใช้จะให้ความสำคัญเรื่องความสะอาด
“ทุกเช้าก่อนไปขายผักที่ตลาดจะเลื่อยใบกล้วยที่เขียวใช้งานได้มา จากนั้นเช็ดด้วยผ้าสะอาด และเช็ดให้แห้ง โดยในการเลือกใบจะเลือกใบที่ไม่มีเชื้อราและไม่มีเพลี้ย ซึ่งจะทำให้ผักไม่สวย และทำให้พืชผักที่นำมาห่อไม่สะอาด โดยวิธีสังเกตใบกล้วยที่ไม่ติดเชื้อ คือใบจะสวยมาก มองไกล ๆ เห็นใบเลื่อมเงางาม ส่วนใบที่เกิดโรคจะเหลืองก็ไม่เอามาใช้”
ด้าน ภีรดา ศรีสาหร่าย เกษตรกรไร่รวงข้าวภูตะวัน จังหวัดราชบุรี เล่าว่า ลูกค้าที่ร้านจะมีทุกวัย แต่จะมีคนสูงอายุ และคนวัยกลางคนมาหน่อย ทุกคนต่างชอบใจที่นำวัสดุธรรมชาติมาใช้ห่อพืชผัก โดยจะใช้วัสดุที่หาได้จากในแปลงอินทรีย์ที่ปลูก เช่น กาบกล้วย ใบตอง ใบสัก เชือกกล้วย ซึ่งก่อนนำมาใช้จะมีการทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยของลูกค้า เช่น กาบกล้วย หลังจากตัดมาแล้วก็จะต้องนำไปล้างด้วยน้ำเกลือแล้วตากให้แห้งเพื่อความสะอาด และไม่ทำให้กาบดำอันจะทำให้ผักไม่สวยด้วย
“ลูกค้าจะชอบมาก เพราะกาบกล้วยมีความเย็น ทำให้เก็บพืชผักได้นานเป็นอาทิตย์ ผู้สูงอายุแต่ละรายมาซื้อจำนวนมากก็ชอบใจ เก็บได้นาน โดยกาบกล้วยจะใช้กับพวกมะเขือเปราะ มะเขือยาว ส่วนใบตองจะนำมาห่อผักก็จะเลือกใบที่ไม่แตก ใบใหญ่ เพื่อจะได้รักษาความสดและคุณค่าของสารอาหารของผักได้หมด ซึ่งก่อนใช้จะนำไปตากแดดอ่อน ๆ ก่อนเพื่อให้ใบมีความเหนียว ไม่แตกง่าย จากนั้นก็นำมาเช็ดให้สะอาด ทุกขั้นตอนจะใส่ใจเรื่องสุขอนามัย และย้ำให้ลูกค้าได้ล้างอีกครั้งหนึ่งด้วย”
ขณะที่ ณัฐพงศ์ รักสะอาด เกษตรกรอินทรีย์กลุ่มปันกัน จ.เพชรบุรี เล่าว่า การหันมาใช้หีบห่อจากวัสดุธรรมชาตินั้นไม่ได้ยุ่งยากหรือสร้างความลำบาก แต่ต้องมีความขยันในการแสงหาและหมั่นสังเกตหน่อย ซึ่งตนเห็นว่าเมื่อเลือกทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีความปลอดภัยและดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว หากจะต้องมีการใช้วัสดุธรรมชาติเพิ่มก็จะดี ปลอดภัยต่อทั้งคนกิน ต่อตัวคนปลูก และต่อโลกด้วย โดยแต่ก่อนจะใช้ถุงหิ้วพลาสติก ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษ ใช้ใบตองใช้พันผัก ใช้เชือกกล้วยใช้มัดผัก เป็นหูหิ้ว ประหยัดค่าถุงไปได้เยอะ และจะใส่ใจเรื่องความสะอาด สุขภาพของลูกค้า
“ผมจะเอาตัวเราเป็นเกณฑ์วัด ตัวเรายังไม่อยากได้ของไม่สะอาด ดังนั้นเราก็จะต้องทำให้ทุกขั้นตอนดีหมด คนที่มาตลาด โดยเฉพาะขาประจำ เป็นคนสูงอายุ เขามาเพราะเขาเชื่อเรา เราก็ต้องทำให้ดี ผักบางอย่างปลูกใกล้ดิน เราก็จะล้างก่อนนำมาห่อ ลูกค้าจะได้ไม่ลำบาก ปลอดภัย ส่วนวัสดุที่นำมาใช้ก็หมั่นสังเกต เรียนรู้ ว่าอันไหนมันดี ควรเก็บอย่างไร ควรเลือกอย่างไร เช่น ใบตอง ก็จะเลือกใบบนที่สะอาด หลังจากกรีดแล้วก็จะใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด เพราะบางทีจะโดนฝุ่นหรือขี้นก ส่วนเชือกกล้วยก็จะต้องเลือกเอามาจากกาบใน เพราะสะอาดกว่ากาบนอก และจะเลือกทำแต่วันที่มีแดดดี ๆ จะได้ไม่เป็นรา พอเก็บมาก็เอามาตากให้แห้ง และเก็บก่อนมืด จะได้ไม่โดนน้ำค้างที่เป็นตัวทำให้เชือกกล้วยเป็นรา และใช้ผ้าแห้งรูดฝุ่นออกอีกทีจะได้สะอาด เสร็จแล้วก็เก็บใส่ถุงให้เรียบร้อย ตอนเราเปลี่ยนวัสดุใหม่ ๆ แรก ๆ ลูกค้าก็บ่นว่าไม่สะดวก แต่ตอนนี้ทุกคนก็เห็นว่ามีการรณรงค์ทุกที ก็ชอบใจที่เรายังดูแลสิ่งแวดล้อม ในตลาดเราก็จะสอนกัน เล่าให้กันฟัง อันไหนดีก็พัฒนาตลอด อีกไม่นานจะหน้าฝน เราก็จะต้องดูว่าจะต้องเอาเชือกปอมาใช้แทนไหม”
สำหรับลูกค้าคนไหนที่สนใจไปช็อปปิ้งพืชผักผลไม้ปลอดสารเคมีจากคุณลุงคุณป้า อย่าลืมพกถุงผ้า ตะกร้า มาด้วย จะได้ช็อปช่วยโลก สุขภาพดีไปพร้อม ๆ กัน