‘ตรุษจีน’ กินผักออกกำลังกายลดโรค NCDs

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'ตรุษจีน' กินผักออกกำลังกายลดโรค NCDs thaihealth


การกินผัก-ผลไม้ควบคู่กับการออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่คนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่มากนัก ซึ่งจะเป็นการดีกว่าหากจะมีการนำหลักการ "กินผักออกกำลังกาย" มาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตในทุกเทศกาล


อย่างเช่นล่าสุด เทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพราะเป็นที่รู้กันว่าอาหารของเทศกาลตรุษจีนนั้นเป็นหมู เห็ด เป็ด ไก่ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากจะนำผัก-ผลไม้มาผสมผสานกับอาหารการกิน บวกกับการทำกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ก็นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรค NCDs เช่น ความอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์และอัมพาตอีกด้วย


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเชิญชวนให้คนไทยหันมาสนใจการกินผักและผลไม้ โดย สสส.สนับสนุนการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการบริโภคผัก-ผลไม้ที่มีความปลอดภัยอย่างน้อยวันละ 400 กรัมตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตั้งเป้าให้มีการบริโภคผัก-ผลไม้อย่างเพียงพอเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.9 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2564 และสนับสนุนจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงสนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคผัก-ผลไม้ อาทิ ส่งเสริมการปลูกผัก การมีตลาดนัดหมุนเวียน หรือจัดเมนูอาหารสุขภาพสำหรับพนักงาน


"มีข้อมูลระบุว่า หากกินผักได้วันละ 400 กรัมจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ 30 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง 6 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหาร หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร 1-6 เปอร์เซ็นต์ ลดเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ลดน้ำหนัก ประโยชน์มหาศาลที่ตามมาจากการกินผักนั้น ทำให้ทุกคนต้องเริ่มทบทวนว่าตอนนี้เรากินผักเพียงพอหรือไม่"


ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า เราได้จุดประกายพัฒนาต้นแบบสื่อสารรณรงค์ใน 3 ด้าน คือ ข้อ 1 พัฒนาองค์ความรู้ ข้อ 2 วิเคราะห์ภาคีและสนับสนุนโครงการยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อน และข้อ 3 ร่วมผลักดันนโยบายและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อความยั่งยืน โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย "พัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมการบริโภคผัก-ผลไม้ปลอดภัย"


โดยมีพื้นที่ต้นแบบ ประกอบด้วย 1. เมืองเกษตรสีเขียวและอาหารปลอดภัย จังหวัดเชียงราย 2.เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ชาติพันธุ์ 3.พื้นที่ต้นแบบความมั่นคงทางอาหาร จังหวัดอุบลราชธานี 4.สามพรานโมเดล ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นธรรม 5.จันทบุรีโมเดล เกษตรอินทรีย์วิถีคนจันท์ 6.สงขลาโมเดล พื้นที่ต้นแบบแหล่งให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพ "โครงการเด็กไทยแก้มใส" มีโรงเรียนนำร่องกว่า 544 แห่ง ที่น้อมนำแนวทางการดำเนินงานและเจริญรอยตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างคุณภาพและทักษะชีวิตให้เด็กไทยมีสุขภาพแข็งแรง "ส่งเสริมการปลูกผัก-ผลไม้เพื่อกินเอง" เช่น โครงการสวนผักคนเมือง ส่งเสริมการปลูกผักในครัวเรือน สวนผักในองค์กร มีการให้ความรู้ผู้บริโภคที่เข้าถึงได้ง่าย และเกิดเป็นกระแสค่านิยมใหม่ในสังคม


'ตรุษจีน' กินผักออกกำลังกายลดโรค NCDs thaihealth


"การขับเคลื่อนการเพิ่มอัตราการบริโภคผักและผลไม้ที่ สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายนั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เช่น ยุทธศาสตร์รัฐบาล 20 ปี ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา สสส.รณรงค์ให้ประชาชนบริโภคผักและผลไม้วันละ 400 กรัม และจัดทำอินโฟกราฟฟิกและคลิปวิดีโอวิธีล้างผักช่วยลดสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง เพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและบริโภคผัก-ผลไม้โดยปลอดภัย" ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว


นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า การบริโภคอาหารของประเทศไทยในปี พ.ศ.2557-2558 ดำเนินการโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสุ่มจังหวัด 4 จังหวัดจากแต่ละภาค รวมถึงกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด ทุกกลุ่มอายุ จำนวน 8,478 คน พบว่าผักที่นิยมเป็นอันดับแรกในทุกกลุ่มอายุ โดยไม่นับผักประเภทปรุงรสและแต่งกลิ่น คือ ผักกาดขาว/เขียว ถั่วฝักยาว แตงกวา กะหล่ำปลี และฟักทอง


สำหรับผลไม้ที่นิยมในกลุ่มอายุ 15-59 ปี คือ แตงโม กล้วยน้ำว้า มะม่วงดิบ ฝรั่ง และสับปะรด ขณะที่กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป นิยมกล้วยน้ำว้า แตงโม มะละกอสุก มะม่วงสุก และสับปะรด


ผลสำรวจข้างต้นนี้พบว่า คนไทยยังกินผัก-ผลไม้ที่ไม่หลากหลาย ร่างกายเราจะได้รับประโยชน์จากผัก-ผลไม้อย่างสูงสุดต่อเมื่อบริโภคผัก-ผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม โดยบริโภคผักหลากสีและผลไม้ที่หลากหลาย ก็จะได้สารอาหารอย่างครบถ้วน


นอกจากนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ ยังเชิญชวนคนทุกวัยทำกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ช่วงวัยหลัก ได้แก่ วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ เริ่มต้นที่วัยเด็ก ควรปลูกฝังเกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางกายเป็นนิสัย โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า เด็กๆ ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางขึ้นไปอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เช่น การเดิน การเล่น หรือเล่นกีฬา แทนที่พฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การอยู่หน้าจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือนั่งอยู่กับเก้าอี้เป็นเวลานานๆ เพื่อป้องกันภาระโรคอ้วน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของกลุ่มโรค NCDs


วัยทำงาน (25-59 ปี) ถือเป็นกลุ่มช่วงวัยที่มีปัจจัยเสี่ยงการเกิดกลุ่มโรค NCDs มากที่สุด ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตปราศจากวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง (Active Living) นับตั้งแต่การเดินทางไปทำงานทั้งขาไปและขากลับ ที่ต้องนั่งหรือยืนบนยานพาหนะเป็นเวลานาน ขณะที่การทำงานก็ยังคงอยู่ในสภาวะการนั่งทำงานสลับกับการนั่งประชุมทั้งวันจนแทบไม่ได้ลุกจากเก้าอี้ หรือขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย ออกแรงกาย แต่อยู่กับหน้าจอ เช่น ดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ


"คนกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลาง และพยายามลุกจากเก้าอี้ หรือเปลี่ยนเป็นการยืนประชุมแทน รวมทั้งต้องลดบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่และความเครียด และหากไม่สร้างเสริมสุขภาพของคนวัยทำงานในวันนี้ เราคงต้องมาซ่อมแซมรักษาเมื่อแก่เฒ่าในอนาคตที่ป่วยด้วยสารพัดโรค NCDs ในวันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"


ช่วงวัยสุดท้ายคือ "วัยสูงอายุ" ที่ต้องระวังคือ "การล้ม" สำหรับแนวทางที่จะแก้ไขหรือบรรเทาให้มีความเสี่ยงลดลงได้ ด้วยการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพราะจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงระบบต่างๆ ของร่างกาย และส่งเสริมการทำงานของระบบการควบคุมการทรงตัวให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในเรื่องของ "การล้ม" ของผู้สูงอายุอย่างตรงจุดอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณปู่คุณย่า หรือคุณตาคุณยาย มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ซึมสร้อยหงอยเหงา และเป็นการเปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมอีกด้วย


สำหรับใครที่ยังละเลยการกินผัก ผลไม้ และออกกำลังกาย ช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนแห่งความรักนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาดูแลตัวเอง…ก่อนทุกอย่างจะสายไป

Shares:
QR Code :
QR Code