ดูฉลากโภชนาการให้เป็น ลดเค็ม ลดโรค

เรื่องโดย: เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก: หนังสือโซเดียมปีศาจร้าย ทำลายสุขภาพ


ให้สัมภาษณ์โดย: ดร.นพ.ไพโรจน์  เสาน่วม  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.


ภาพโดย: นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ


ดูฉลากโภชนาการให้เป็น ลดเค็ม ลดโรค thaihealth


ซองขนมสีสันสดใส ตั้งเรียงรายบนชั้นวางของภายในร้านสะดวกซื้อ ล่อตาล่อใจทุกเพศทุกวัย ทั้งรสชาติที่แปลกใหม่และรสชาติที่คุ้นเคยให้เลือกหยิบลงตะกร้าได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุผลสั้นๆ ที่ว่า ‘อร่อยดี’


รู้หรือไม่ นอกจากความอร่อยแล้ว ขนมขบเคี้ยวในมือของคุณยังแฝงไปด้วยโซเดียม ซึ่งหากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไป จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง และไตวายในที่สุด


ดูฉลากโภชนาการให้เป็น ลดเค็ม ลดโรค thaihealth


องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำการบริโภคโซเดียมที่เหมาะสม  ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน  หรือเทียบเท่าเกลือ 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชา  ในขณะที่ผู้ใหญ่ไทยบริโภคโซเดียมสูงกว่าที่กำหนด 2 เท่า สิ่งที่น่าจับตามองคือ เด็กไทยบริโภคโซเดียมเกิน 5 เท่า  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานพันธมิตร จึงร่วมประกาศเจตนารมณ์ แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็ม โดยตั้งเป้าหมายลดเค็มให้ได้ 30 % ภายในปี 2568 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต


ดูฉลากโภชนาการให้เป็น ลดเค็ม ลดโรค thaihealth


หนึ่งในพฤติกรรมติดเค็มของเด็ก มาจากการปรุงอาหารของผู้ปกครอง โดย ดร.นพ.ไพโรจน์  เสาน่วม  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ให้คำแนะนำพ่อแม่ในการเลือกอาหารและขนมให้ลูกว่า  พ่อแม่สามารถบอกให้ลูกรู้ถึงคุณประโยชน์ของอาหารแต่ละประเภท เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว สิ่งสำคัญคือ ต้องดูฉลากปริมาณโซเดียมหรือแบ่งบริโภคต่อมื้อให้เป็น ไม่ควรบริโภคจนหมดซองในมื้อเดียว    รวมทั้งควรสร้างวินัยในการบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ  ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องขนมขบเคี้ยวและอาหารให้พี่เลี้ยง  และส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ เป็นต้น


วิธีสังเกตปริมาณและคำนวณโซเดียม


ข้อมูลโภชนาการด้านข้างหรือหลังซองอาหาร จะบ่งบอกว่า ภายในบรรจุภัณฑ์นี้ มีปริมาณโซเดียมเท่าไหร่ สิ่งที่ควรสังเกตต่อมาคือ ต้องดูที่จำนวนหน่วยบริโภคต่อซองด้วย  เช่น ขนมมันฝรั่งทอดยี่ห้อหนึ่ง ระบุว่า  มีโซเดียม 170 มก. ในขณะที่ จำนวนหน่วยบริโภคต่อซอง  คือ 2 สรุปได้ว่า  ขนมถุงนี้ ควรที่จะแบ่งบริโภค 2 ครั้ง แต่ถ้าบริโภคหมดในครั้งเดียว ก็จะได้รับโซเดียม 170 x 2 = 340 มิลลิกรัม นั่นเอง


นอกจากนี้ ยังมีฉลากโภชนาการอีกแบบที่เรียกว่า ‘ฉลาก หวาน มัน เค็ม’ อยู่หน้าซองขนมโดยจะบอกปริมาณพลังงาน  น้ำตาล  ไขมัน  และโซเดียม ซึ่งคิดเป็นปริมาณต่อถุงอยู่แล้ว  จึงสามารถสังเกตได้และง่ายในการเลือกซื้อ แต่ทางที่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวหรือเลือกขนมที่มีโซเดียมน้อย ๆ จะดีกว่า


ดูฉลากโภชนาการให้เป็น ลดเค็ม ลดโรค thaihealth


ยังมีวิธีลดโซเดียมแบบง่าย ๆ ที่รับรองว่าหากพิถีพิถันในการเลือกบริโภค จะทำให้ห่างไกลเค็มและห่างไกลโรค ได้ไม่ยาก   


1.หากปรุงอาหารเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงในอาหาร เช่น น้ำปลา  ซอสปรุงรส  ซีอิ๊ว น้ำมันหอย  ผงชูรส  และควรตวงก่อนปรุงทุกครั้ง


2.หากกินข้าวนอกบ้าน  หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม จากเครื่องปรุงต่าง ๆ  และไม่ควรซดน้ำแกงหรือน้ำซุปจนหมด  เพราะโซเดียมจากเครื่องปรุงต่างๆ จะละลายอยู่ในน้ำแกงและน้ำซุป  หากเป็นไปได้ควรประกอบอาหารกินเองแทนการกินข้าวนอกบ้าน


3.หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด อาหารหมักดอง-แช่อิ่ม  อาหารแปรรูป  อาหารสำเร็จรูป  อาหารกระป๋อง  อาหารแช่แข็ง  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว  หรือเลือกกินอาหารธรรมชาติ  แต่ถ้าจำเป็นต้องกิน  ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง และเลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด


4.ควรลดการกินขนมหวานที่มีโซเดียม เช่น กล้วยบวชชี  ขนมอบทุกชนิดที่ใส่ผงฟู เช่น ขนมปัง เค้ก คุ้กกี้ โดนัท เป็นต้น


ประโยชน์ของฉลากโภชนาการ ไม่ได้ระบุเฉพาะข้อมูลของโซเดียมเท่านั้น แต่ยังระบุข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเลือกบริโภคอีกด้วย รู้อย่างนี้แล้ว ก่อนจะหยิบซื้อ อาหาร ขนมขบเคี้ยว ลงตะกร้า ลองหมั่นตรวจเช็คข้อมูลโภชนาการจากฉลากโภชนาการให้เป็นนิสัย เพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและคนในครอบครัว

Shares:
QR Code :
QR Code