ดื่มนมแล้วท้องเสีย เลิกดื่มดีไหม?

แต่มันช่วยสร้างแคลเซียม ป้องกันมะเร็งและเบาหวาน

 ดื่มนมแล้วท้องเสีย เลิกดื่มดีไหม?

          ปัญหาการดื่มนมแล้วท้องเสียนี้พบได้บ่อยพอสมควร โดยเฉพาะในคนไทยและคนในทวีปเอเชียและแอฟริกา เมื่อพบปัญหานี้ คนส่วนใหญ่มักจะแก้ไขโดยการหลีกเลี่ยงการดื่มนมไปเลย ก็ถือว่าเป็นการกำจัดที่ต้นเหตุที่ถูกต้องวิธีหนึ่ง แต่มีผลเสียคือ ทำให้ขาดการดื่มนม ซึ่งอาจทำให้ความแข็งแรงของกระดูกในร่างกายลดลงได้ นมถือได้ว่าเป็นแหล่งอาหารที่ให้แคลเซียมมากที่สุด การจะรับประทานอาหารอื่น ๆ เพื่อให้ได้จำนวนแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั้นทำได้ยาก และต้องรับประทานอาหารจำนวนมาก และเป็นประจำทุกวัน จึงเป็นไปได้ยาก เมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มนม ซึ่งทำได้ง่ายและสะดวกกว่า อีกทั้งการดื่มนมเพียงวันละ 2-3 แก้ว ก็จะได้รับจำนวนแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

 

          ทำไมดื่มนมแล้วจึงท้องเสีย? คำถามนี้เป็นคำถามที่มีผู้ให้ความกระจ่างได้น้อย หลาย ๆ คนที่เกิดอาการนี้มักจะคิดว่า ตนเองแพ้นมวัว ดื่มนมทีไร ท้องเสียทุกครั้ง ความจริงก็คือ คนไทย คนแถบเอเชียและคนแถบแอฟริกานั้น จะมีน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลแลคโตสตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 4-5 ปี หลังจากอายุนี้ น้ำย่อยนี้จะลดน้อยลงจนหมดไป จึงย่อยน้ำตาลแลคโตส ไม่ได้ ต้องเข้าใจให้ดีว่า น้ำตาลแลคโตสนี้พบในน้ำนม ที่ได้มาจากสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนมวัวหรือนมแพะ จึงทำให้ดื่มนมที่ได้จากสัตว์ทีไรทำให้ท้องเสียทุกครั้งไป

 

          แต่ในปัจจุบันมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ดื่มนมวัวแล้วไม่เกิดอาการใด ๆ เลย ในทางการแพทย์เชื่อว่าเมื่อมีการดื่มนมวัวอย่างต่อเนื่อง แบคทีเรียในลำไส้จะมีการสร้างน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสนี้ขึ้นมา ซึ่งจะย่อยน้ำตาลแลคโตส ได้ จึงทำให้คนที่ดื่มนมอย่างต่อเนื่องจะไม่เกิดปัญหาการย่อยนมที่ดื่ม

 

          นอกจากอาการท้องเสียแล้ว อาการอื่นที่คนทั่วไปอาจนึกไม่ถึงว่าเกิดจากการย่อยนมไม่ได้ดีก็คือ อาการท้องอืด จุกเสียด และแน่นหน้าอก รวมทั้งการผายลมบ่อย ๆ

 

          เมื่อพบปัญหานี้คือ ท้องเสีย จุกเสียด แน่นท้อง ทุกครั้งที่ดื่มนม คนส่วนใหญ่ก็มักจะเลิกดื่มนมไปเลย แต่ความเป็นจริง เราสามารถจะชนะอาการเหล่านี้ได้ทุกคน ขออย่าได้ท้อแท้ โดยในขั้นแรกให้ดื่มนมหลังรับประทานอาหารเช้า โดยดื่มประมาณ 30 มล. วันเว้นวัน ถ้ามีอาการดังที่กล่าวมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในครั้งต่อไปก็ให้ลดจำนวนนมลงมาครึ่งหนึ่ง จนมั่นใจว่า ไม่มีอาการ เช่น ดื่มนมหลังอาหารเช้าเพียง 15 มล. แล้วไม่เกิดอาการใด ๆ ก็ให้คงการดื่มนั้น ไปสัก 7 วัน ในสัปดาห์ต่อมาให้ดื่มนมเพิ่มเป็น 30 มล. โดยให้ดื่มทุกวันหลังอาหารเช้าเช่นเดิม และในสัปดาห์ต่อมาจึงเพิ่มเป็น 60 มล. ทุก ๆ วัน แล้วเพิ่มครั้งละ 30 มล. ในทุกสัปดาห์ ถ้าไม่มีอาการใด ๆ ก็ให้เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จน ถึง 240 มล. หรือประมาณ 1 แก้ว หรือ 1 กล่องนม ก็จะเป็นจำนวนนมที่ต้องการได้ ในกรณีที่เพิ่มไปได้เพียง 150 มล. แล้วเกิดอาการจุกเสียด ก็ให้ลดลงมาในระดับก่อนหน้าที่ไม่เกิดอาการ แล้วคงระดับนั้นไปอีก 2-3 สัปดาห์จึงค่อยเพิ่มจำนวนอีกครั้งหนึ่ง

 

          เมื่อสามารถดื่มนมได้ครั้งละ 240 มล. หลังอาหารโดยไม่เกิดอาการใด ๆ ก็มีโอกาสสูงที่จะสามารถดื่มนมในขณะท้องว่างหรือก่อนอาหารได้ โดยในขั้นแรกอาจจะลองดื่มเพียง 60 มล. ก่อน แล้วค่อยเพิ่มเป็นครั้งละ 120, 180 และ 240 มล. ตามลำดับถ้าสามารถดื่มนมครั้งละ 240 มล. ในขณะท้องว่างโดยไม่เกิดอาการใด ๆ ภายหลังดื่ม 8 ชั่วโมง ก็แสดงว่าไม่มีปัญหาการย่อยและดูดซึมนมแล้ว ต่อไปก็ควรเพิ่มการดื่มนมเป็นวันละ 2 แก้ว หรือ 2 กล่อง

 

          เนื่องจากนมวัวที่เรานำมาดื่มนั้นมีการปรับแต่ง ทำให้มีหลายคุณภาพ โดยเฉพาะทางด้านไขมัน ที่เราเรียกว่า นมสด หรือรสจืดจะมีไขมันอยู่ 4% นมพร่องมันเนยจะมีไขมันอยู่ 2% และนมขาดมันเนยจะไม่มีไขมันเลย แต่นมทั้ง 3 ชนิดมีน้ำตาลแลคโตสเท่ากันคือ 4-5% จึงแตกต่างกันเฉพาะจำนวนไขมัน จึงให้พลังงานที่แตกต่างกัน แต่ให้จำนวนแคลเซียม แร่ธาตุ น้ำตาลนมและโปรตีนเท่ากัน โดยนมวัวสด นมพร่องมันเนย และนมขาดมันเนย จะให้พลังงาน 170, 130 และ 85 กิโลแคลอรีต่อ 240 มล. ตามลำดับ สำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมแล้ว แนะนำให้ดื่มนมขาดมันเนย เพื่อจะลดจำนวนพลังงานที่ได้จากนม

 

          ยังมีนมวัวที่อยู่ในรูปอื่น ๆ ที่อาจจะรับประทานระหว่างวัน เช่น ชีส เค้ก หรือไอศกรีม ก็จะเป็นแหล่งที่ให้แคลเซียมเพิ่มเติม นอกจากนั้น ผักใบเขียว โดยเฉพาะบริเวณก้านก็จะให้แคลเซียมได้มากพอสมควร เช่น คะน้า และผักบรอกโคลี เพียงแต่การดูดซึมแคลเซียมจากผักอาจจะไม่ได้ดีเท่ากับ การดูดซึมจากนม

 

          และในบางโอกาสอาจจะไม่อยากดื่มนม หรือไม่มีโอกาสดื่มนมหรือไม่ชอบดื่มนม ก็สมควรที่จะรับประทานยาเม็ดแคลเซียมเสริมเป็นประจำทุกวัน อย่างต่ำวันละ 1,000 มิลลิกรัม ทั้งนี้เพื่อบำรุงกระดูกให้มีความแข็งแกร่งตลอดเวลา โดยร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และได้รับแสงแดดเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 20 นาทีขึ้นไป ก็จะทำให้คุณภาพของกระดูกในร่างกายแข็งแรงอย่างเต็มที่ และยังช่วยป้องกันมะเร็งและเบาหวานได้ด้วย.

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update 13-10-51

Shares:
QR Code :
QR Code