ดึงเยาวชนเข้าค่ายพิชิตขยะ
ที่มา : สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
"อันตราย ย่อยสลาย ติดเชื้อ ทั่วไป รีไซเคิล"เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ ที่เปล่งออกมา ขณะครุ่นคิดว่าขยะที่อยู่ตรงหน้า คือขยะประเภทใด และพวกเขาควรจะจัดการขยะเหล่านี้ อย่างไร นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆที่อาจนำไปสู่การลดปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมชวนKidsพิชิตขยะ ค่ายสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับเยาวชน เพื่อรู้ทันปัญหาและผลกระทบใกล้ ตัวที่เกิดจากขยะ เข้าใจสาเหตุและเห็นแนวทางแก้ปัญหา ด้วยทักษะการจัดการแบบ 3R (Reduce Reuse Recycle)พร้อมทั้งปลูกฝังฝึกความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมรักษ์ โลกในแบบของตัวเอง
กิจกรรมชวนKidsพิชิตขยะ เป็นกิจกรรมในช่วงปิดเทอมที่นับได้ว่าเป็นการเสริมสร้างทักษะชีวิตและทักษะการเรียนรู้ในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือ การร่วมกันแก้ปัญหาของโลกที่ หลายประเทศกำลังเผชิญนั่นคือ ปัญหาขยะ โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 3 รุ่น ในแต่ละรุ่น มีเด็กๆ อายุ 7-12 ปีรุ่นละประมาณ50คน มาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรม ในเรื่องของการจัดการขยะ
'ขยะ'เป็นสิ่งใกล้ตัว เริ่มตั้งแต่ขยะในบ้าน ตลอดจนขยะที่โรงเรียนนี่คือที่มาของคำถามว่าทำไม กลุ่มเป้าหมายในการปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะในครั้งนี้ จึงมุ่งไปที่เด็กและเยาวชน
นางสาวพรสุภา แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานโครงการชวน Kidsพิชิตขยะ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นค่ายสร้างเสริมสุขภาวะของเยาวชน โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. มุ่งสร้างจิตสำนึกให้กับน้องๆ ในเรื่องขยะปลูกฝังให้เขารู้จักการแยกขยะแต่ละประเภท นับว่าเป็นการสร้างนิสัยผ่านกิจกรรม ซึ่งคาดหวังว่าหลังจากจบค่ายในครั้งนี้ น้องๆ จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทิ้งขยะ และส่วนตัวมองว่ากิจกรรมแบบนี้ ดี เพราะการปลูกฝังเรื่องขยะเริ่มจากตัวเรา ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว สุดท้ายแล้วผลกระทบมันกลับมาที่เรานั่นเอง
เพื่อความสนุกและไม่น่าเบื่อ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะจัดกิจกรรมใน 3 วันของค่ายเน้นเป็นฐานการเรียนรู้ โดยเน้นในเรื่องของสถานการณ์ขยะในปัจจุบัน การแยกขยะ และการแก้ไขปัญหา เช่น กิจกรรมแฟนพันธ์แท้สถานการณ์ ขยะ กิจกรรมตกขยะ ปัญหาจากขยะ โรคจากขยะระยะย่อยสลาย ประโยชน์จากขยะ กิจกรรมทำปุ๋ยหมักจากขยะย่อยสลาย กิจกรรมทัวร์ชมนิทรรศการและการจัดการขยะของ สสส. เป็นต้น
"ทุกวันนี้ขยะล้นโลก จึงต้องช่วยกันกำจัดขยะให้ถูกวิธี" ความคิดดังๆ ของเด็กหญิงรชิตา รชตธรรมกุล หรือน้องเซ้นต์วัย 11 ขวบ แล้วบอกว่า ในการเข้าร่วมครั้งนี้ชอบกิจกรรมตกขยะ ซึ่งต้องใช้สมาธิและความสามัคคี ในการตกขยะ ส่งขยะ และแยกขยะ ทำให้เราเข้าใจในเรื่องของการแยกขยะ ว่าขยะแบบนี้ต้องใส่ถังแบบไหน ซึ่งโดยรวมกิจกรรม สนุกและได้ประโยชน์เยอะมาก ได้เจอเพื่อนหลายๆ คน และจะนำความรู้มาปฏิบัติในชีวิตประจำวันในเรื่องการแยกขยะให้ ถูกวิธี
"ขยะบางชนิดที่นำมารีไซเคิลได้ก็นำมาทำในวิธีของเรา ขยะอันตรายถ้าเรากำจัดเองไม่ได้ ก็ส่งไปให้เขากำจัดให้ถูกวิธี ถ้ามีกิจกรรมแบบนี้ก็อยากจะมาร่วมอีก เพราะค่ายนี้มีประโยชน์ทุกอย่าง พร้อมทั้งเป็นตัวอย่างให้เพื่อนๆ โดยการทำให้เขาเห็นว่า หากเราแยกขยะแบบนี้ทำให้ โลกเราเป็นสีเขียว และอยากให้โลกกลับมาไม่มีขยะอีกครั้งหนึ่ง" น้องเซ้นต์บอกน้ำเสียงจริงจัง
เช่นเดียวกับ เด็กชายนพอนันต์ จิตติฐินันท์ หรือน้องเต๋าเต้ย วัย 10 ขวบ กล่าวว่าตอนแรกคิดว่าให้มาเก็บและแยกขยะ แต่พอมาร่วมกิจกรรมจริงๆ มีมากกว่านั้น รู้สึกว่าตอนนี้ขยะเยอะมากบนพื้นที่ที่จำกัด กินพื้นที่บนโลกเรา ทำให้พื้นที่ในการก่อสร้างที่พักอาศัยอาจน้อยลง และทำให้ไปเบียดเบียนพื้นที่ ทำกินการเข้าร่วมครั้งนี้ประทับใจกิจกรรมฐานตกขยะ ได้ประโยชน์และความรู้ ในการแยกขยะให้ถูกวิธี ทั้งที่ปกติก็แยกขยะเป็นอยู่แล้วแต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแยกขยะ แต่ต่อไปจะแยกขยะทุกครั้ง เพราะจะได้ทิ้งขยะให้ถูกวิธี
"ค่ายนี้เป็นค่ายที่สนุกและเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน โดยหลังจากจบค่ายจะนำความรู้ ในครั้งนี้ไปบอกต่อเพื่อนๆ ให้ได้รับรู้และปฏิบัติถูกต้องเพื่อสังคมของเราจะได้น่าอยู่ ขึ้น ขยะจะได้ลดลงรวมถึงผมก็จะเป็นตัวอย่างให้เพื่อนเช่นกัน"น้องเต๋าเต้ยก็ออกอาการจริงอีกคน
สุดท้าย เด็กชายรัฐนริศร์ เติมศิริกมล หรือ น้องฮีโร่ วัย10 ขวบ อีกหนึ่งในเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เนื่องจากคุณแม่อยากให้เข้าร่วมเพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยในการทิ้งขยะ บอกว่า รู้สึกสนุกมากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรม เรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก ซึ่งมาจากเศษอาหารในครัวเรือน และกิจกรรมนิทรรศการขยะ ที่ทำให้รู้ว่าในโลกของเราเต็มไปด้วยขยะ กิจกรรมในครั้งนี้มีประโยชน์ เพราะก่อนหน้านี้ในการทิ้งขยะของตนเองก็แยกบ้างไม่แยกบ้าง และแยกขยะผิดประเภท แต่หลังจากเรียนรู้วันนี้ก็รู้ ว่าต้องแยกและทิ้งให้ถูกวิธี
เด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมพิชิตขยะเหมือนกำลังบอกว่าที่มาของ ขยะ 1 ชิ้น คนเป็นผู้ทิ้งและทำให้เกิดขยะขึ้น ดังนั้นหากทุกคนตั้งสติหันมองตัวเองมองถึงสถานการณ์วิกฤติด้านขยะของบ้านเราและของโลกที่มีตัวเลขสูงมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น มองดูขยะในมือตัวเอง ตั้งสติตั้งสำนึกที่ดีต่อสังคมแยกขยะก่อนทิ้ง พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตนำหลักการจัดการขยะ 3Rอย่างReduce Reuse Recycleเข้ามาประยุกต์ใช้ เชื่อแน่ว่า การพิชิตขยะลดปัญหาต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมของไทยและของโลกได้ในเร็ววันอย่างแน่นอน