ดัน “ระบบบำนาญแห่งชาติ” ให้สวัสดิการผู้สูงวัย

ต่อลมหายใจ…ประกันรายได้ยามชรา

 

 ดัน “ระบบบำนาญแห่งชาติ” ให้สวัสดิการผู้สูงวัย

          ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย  (มส.ผส.) ร่วมกับแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีระดมความเห็นเชิงนโยบายเรื่อง การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ

 

          โดยมี ดร.อัมมาร์ สยามวาลา จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นประธานการประชุม มีน.พ.บรรลุ ศิริพานิช ประธาน มส.ผส. ดร.ชบ ยอดแก้ว มูลนิธิ ดร.ครูชบ – ปราณี ยอดแก้ว และนักวิชาการ และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงการคลัง สำนักงานประกันสังคม และสถาบันเกี่ยวข้องหารือ เพื่อให้เกิดข้อสรุปร่วมกันออกข้อเสนอการออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ สร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุ

 

          ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยผู้ออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพให้ครอบคลุมถ้วนหน้า โดยให้ประชาชนทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการออม สำหรับผู้มีอายุ 20 – 59 ปี และรัฐบาลมีบทบาทในการอุดหนุนทางการเงินบางส่วนเท่านั้น

 

          ส่วนผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หมายถึง ผู้ที่รับเบี้ยยังชีพในปัจจุบัน รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทางการเงินทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถออมเงินภายใต้ระบบใหม่ได้ รัฐบาลจ่ายให้ทุกคน ยกเว้นข้าราชการคนละ 500 บาทต่อเดือน ทันเข้าเป็นสมาชิกกองทุนบำนาญแห่งชาติ โดยสมาชิกกองทุนฯ ที่เข้าในระบบใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินบำนาญชราภาพรายเดือนเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ ทั้งยังมีเงินบำนาญทุพพลภาพ เงินบำเหน็จตกทอด  และเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ด้วย

 

          ดร.อัมมาร์ กล่าวว่า สำหรับงานออกแบบระบบบำนาญของชาตินอกจากงานศึกษาวิจัยในชุดนี้ทราบว่ายังมีของกระทรวงการคลังอีกชุดหนึ่ง ซึ่งถึงขั้นเสนอออกเป็นกฎหมาย ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องช่วยกันคิดและถอดออกมาตอบโจทย์ที่เปิดให้รับฟังวันนี้ โดยเฉพาะข้อสงสัยเรื่องจำนวนเงินเริ่มต้น  500 บาท ที่รัฐบาลปัจจุบันสัญญาว่าจะจ่ายเป็นเงินเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งต่อไปเงินจำนวนนี้จะปูดขึ้น ยังไม่รวมกับอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดต่อไป อยากฝากให้ช่วยหาทางจัดการไฟแนนซ์ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด

 

          ตรงนี้คือข้อแตกต่างระหว่างประชานิยมที่แจกดะ กับรัฐสวัสดิการที่รัฐคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ให้อยู่ในฐานที่สามารถเผชิญความเสี่ยงในชีวิต ซึ่งรัฐจะคำนึงถึงตลอดว่าเงินที่ได้มาจ่ายนั้นมาจากส่วนไหน ขณะที่คนทั่วไปมักจะคิดว่ารัฐเป็นอาเสี่ย ก็จะคอยแต่รอรับการช่วยเหลืออย่างเดียว ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐมีนั้นมาจากพวกเรา ต้องหาเงินจากประชาชนมาเพื่อให้กับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นเงินฟรีมาจากรัฐที่ลอยอยู่บนฟ้า แต่มาจากประชาชนด้วยกันดร.อัมมาร์ กล่าว

 

          ดร.วรเวศม์ ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับรายงานวิจัย (ร่าง) การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติฉบับนี้ ซึ่งได้มีการจัดระดมความเห็นจากหลายฝ่ายในวันนี้ ทำให้เห็นถึงข้อห่วงใยที่ต้องกลับไปเพิ่มเติมในบางประเด็นย่อย อาทิ เรื่องช่วงอายุของสมาชิกฯ เรื่องงานการบริหาร ฯลฯ

 

          แต่ในส่วนของโครงสร้างหลักทุกฝ่ายมีความเห็นที่สอดคล้องตรงกัน สามารถจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการผลักดันระบบการออมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้น ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานผลักดันให้เกิดนโยบายนี้อย่างเป็นรูปธรรม ตรงนี้อยู่ที่ฝ่ายการเมืองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

 

 

 

 

ที่มา: press release

 

 

update 11-03-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code