ดัน ‘กู้ชีพฉุกเฉิน’ เข้าหลักสูตร
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เดินหน้าปลูกฝังเด็กเรียนรู้ทักษะกู้ชีพฉุกเฉิน สร้างภูมิเอาตัวรอด พร้อมช่วยเหลือคนอื่น พร้อมต่อยอดผลักดันบรรจุเข้าหลักสูตรการศึกษา
เมื่อวันอาทิตย์ ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักกิจการลูกเสือและกิจการนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี สำนักอุทยานการเรียนรู้ สำนักนายกรัฐมนตรี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และสำนักการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. จัดกิจกรรมทบทวนและประเมินผลการเรียนรู้และฝึกทักษะ "ค่ายรู้ รอดปลอดภัย" ของโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อพัฒนารูปแบบสู่ ความยั่งยืน โดยมีนักเรียนและผู้ ปกครองกว่า 70 คนเข้าร่วมกิจกรรม
ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฯ กล่าวว่า สมาคมต้องการประเมินผลนักเรียนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายรู้รอดปลอดภัยทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมาว่าเด็กๆ จะสามารถจดจำหรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวันตามที่ได้ผ่านการอบรมมาหรือไม่ และจะนำผลประเมินมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงทั้งในเรื่องของวิชาการและกิจกรรมการฝึกทักษะที่จะจัดขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับความสนใจของนักเรียน เมื่อได้ผลการประเมินครั้งนี้แล้วจะนำไปประกอบเป็นข้อมูลในหนังสือสรุปผลการดำเนินงานจัดค่ายรู้ รอดปลอดภัย เพื่อเรียนให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการได้รับทราบถึงรูปแบบในการฝึกทักษะที่มีความจำเป็นต้องสอนให้นักเรียนได้รับรู้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กไม่ต้องรอให้โตก่อน
ด้านคุณหญิงเดือนเพ็ญ พึ่งพระเกียรติ คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน กล่าวว่า เราเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่โดยให้ความรู้แก่เด็กเล็กหรือเด็กแต่ละช่วงวัยได้ ให้เด็กนำความรู้ที่ได้ไปกระจายสู่ครอบครัว สังคม รวมถึงนำไปใช้ได้จริง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีทั้งเด็กและผู้ปกครองให้ความสนใจมากขึ้นและเรียกร้องให้มีการจัดกิจกรรมอีก ทั้งนี้การประเมินส่วนหนึ่งจะดูว่านักเรียนที่สมัครเข้ามาเองกับนักเรียนที่มากับโรงเรียนแบบใดมีความสนใจมากกว่ากัน
"ประเทศไทยควรจะสอนทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ต้องรอให้โตก่อนแล้วค่อยสอน การกระจายความรู้ไปสู่เด็กเหมือนกับการเปลี่ยนสังคมสอนให้เด็กมีทักษะชีวิตมากขึ้น จึงอยากให้ผู้ใหญ่ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำวิธีการการฝีกให้ความรู้และทักษะดังกล่าวไปใช้ในวงกว้าง" คุณหญิงเดือนเพ็ญกล่าว
ขณะที่ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทักษะการช่วยเหลือชีวิตของไทยถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรวิชาลูกเสือและเนตรนารีที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียนควรมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งในอนาคตจะถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่วัยเด็กและต่อเนื่องถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหวังว่าจะส่งผลให้เด็กไทยสามารถเติบโตเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ตลอดจนหากประสบเหตุก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ อันจะเป็นผลช่วยลดอัตราการตายและความพิการของผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง.