ดันรณรงค์ลดบุหรี่ “วาระแห่งชาติ”
หวังกระตุ้นผู้ขาย-เสพ ลด ละ เลิก!!
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับผู้บริหารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อหาแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาบุหรี่เถื่อน เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2552 โดยกล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะผลักดันให้การรณรงค์เรื่องการลด ละ เลิก บุหรี่ เป็นวาระแห่งชาติ
โดยเห็นร่วมกันที่จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด ซึ่งจะมาจากตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยชุดแรกจะเป็นคณะกรรมการกลาง เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของการปราบปรามและรณรงค์ในการลด ละ เลิก บุหรี่ ส่วนชุดที่สองจะทำหน้าที่รับนโยบายของชุดแรกมาปฏิบัติการ ทั้งนี้ ในเดือนหน้าจะได้มีการเสนอแผนดำเนินการดังกล่าวต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน สสส. ได้รับทราบ
“เมื่อรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีบุหรี่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยในการลด ละ เลิก บุหรี่แล้ว เราก็ควรจะมีการรณรงค์เรื่องการปราบปรามบุหรี่เถื่อนควบคู่ไปด้วย เพราะปัจจุบันมีบุหรี่ที่ลักลอบเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มที่เยาวชนจะหันมาสูบบุหรี่กันมากขึ้น ฉะนั้น ขณะที่เราได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งจากกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิ ตตรึงกำลังตามจุดเสี่ยงของการลักลอบทั่วประเทศตลอด 7 วัน คิดว่าหลังจากนี้ยอดการลักลอบนำเข้าน่าจะลดลง”
เขากล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิต จะได้มีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายบุหรี่ และบทลงโทษสำหรับผู้ที่ลักลอบการนำเข้า เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการสูบบุหรี่และการลักลอบการจำหน่าย เพราะกฎหมายมีความล้าหลัง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่นำมาใช้ตั้งแต่ 40 ปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของการขออนุญาตขายบุหรี่ก็ทำได้ง่าย และราคาถูก ส่วนบทลงโทษนั้นก็ต้องกำหนดให้มีความชัดเจนมากขึ้น
ด้านนายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า มีการลักลอบการนำเข้าบุหรี่เถื่อนเข้ามาในหลายประเทศจำนวนมาก โดย 1 ใน 3 ของบุหรี่ที่ส่งมาขายนั้นได้หายไปในตลาดมืด และระยะ 15 ปีที่ผ่านมา มีบุหรี่ที่ส่งมาขายในไทยจำนวนประมาณ 488 ล้านซอง แต่พบว่ามีจำนวน 200 กว่าล้านซองได้หายไปในตลาดมืด และยังพบว่า 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ในการผลิตบุหรี่ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 52% เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการค้าบุหรี่เถื่อนนี้
“กรมสรรพสามิตได้ประเมินไว้ว่า เราสูญเสียรายได้การผลิตบุหรี่ปลอมประมาณ 1,400 – 1,700 ล้านบาทต่อปี ส่วนการลักลอบบุหรี่เถื่อนนั้น เราสูญเสียรายได้ประมาณ 3,000 – 4,000 ล้านบาทต่อปี” เขากล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update 21-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก