ซื้อยาโด๊ปใช้เอง อันตรายถึงชีวิต
โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ
อย. เตือน อย่าซื้อยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมาใช้เอง หากพบอาการไม่พึงประสงค์ควรไปพบแพทย์ การซื้อยากินเองนอกจากจะเสี่ยงจากการได้รับยาปลอม ยาที่เสื่อมสภาพ ยาที่หมดอายุแล้ว ยังอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มไนเตรต เช่น ยาอมใต้ลิ้นในผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นต้น
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ของ อย. ได้มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่
โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้รับรายงานไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาว่า พบผู้ป่วยชายอายุ 53 ปี มาพบแพทย์ด้วยอาการหายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ญาติแจ้งว่ากินยาจีนเม็ดสีเหลืองมีอักษร c 80 และใต้ขวดยามีอักษร ciales และ c111 mg บรรจุในขวดที่ฉลากเป็นภาษาจีน ซึ่งอาจจะทำเลียนแบบยา cialis? เม็ดยาสีเหลืองมีอักษร c 20 ที่มีข้อบ่งใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีอาการไม่พึงประสงค์ทำให้เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย หากใช้ไม่ถูกต้องอาจทำให้เสียชีวิตได้ เมื่อตรวจสอบพบว่ายาจีนดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. จึงเฝ้าระวังมิให้มีการลักลอบนำเข้ามาทางด่านต่างๆ
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย นั้นมีสาเหตุจาก 3 ประการด้วยกัน ได้แก่สภาวะเสื่อมของร่างกาย ภาวะจิตใจ และผลข้างเคียงจากยา โดยแต่ละสาเหตุก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นการค้นหาสาเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อการรักษาที่ตรงจุด การที่ผู้ป่วยหาซื้อยามารับประทานเอง นอกจากจะเสี่ยงจากการได้รับยาปลอม ยาที่เสื่อมสภาพ ยาที่หมดอายุแล้ว ยังอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มไนเตรต เช่น ยาอมใต้ลิ้นในผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นต้น การได้รับยาในกลุ่มนี้ จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ และมีการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์อย่างใกล้ชิด โดยยากลุ่มรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศดังกล่าว จะต้องมีใบสั่งแพทย์และสั่งจ่ายโดยห้องยาในสถานพยาบาล หรือจำหน่ายในร้านยาคุณภาพเท่านั้น
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้าย หากได้รับอันตรายจากการบริโภคยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. โทรศัพท์ และโทรสาร 0 2590 7253 เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th/vigilance หรือร้องเรียนที่สายด่วน อย. 1556 เพื่อ อย.จะได้ดำเนินการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์astv ผู้จัดการ
update : 14-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก