ซึมเศร้า เข้าใจ รับมือได้
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ที่มา : กิจกรรม “SOS ซึมเศร้าในวัยรุ่น เข้าใจ รับมือได้” ถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊ก SOOK
ภาพประกอบจาก : ณัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
เคยไหม…ช่วงนี้ทำไมรู้สึกเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ จะหยิบจับทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ รู้สึกไม่มีความสุข ไม่อยากทำอะไรแล้ว จนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าอารมณ์แบบนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่านะ?
"โรคซึมเศร้า" ขึ้นแท่นโรคยอดฮิตไม่แพ้โรคอื่น ๆ เพราะรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ทั่วโลกมีประชากรกว่า 300 ล้านคน ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งในประเทศไทยติดอันดับต้น ๆ การสูญเสียจากการฆ่าตัวตาย และมีสถิติค่อนข้างสูง เฉลี่ย 6 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนในวัยรุ่นมีสถิติ 5.33 คนต่อประชากร 1 แสนคนที่มีความคิดอยากจะฆ่าตัวตาย
ในกิจกรรม “SOS ซึมเศร้าในวัยรุ่น เข้าใจ รับมือได้” ที่จัดโดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้ ผศ. นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมถ่ายทอดความเข้าใจเรื่องภาวะซึมเศร้า
"ทุกคนต่างเคยเจออารมณ์ซึมหรือเศร้าในช่วงใดช่วงหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการและการรับมือกับอารมณ์ความรู้สึก บางคนไม่มีความสุขไปครึ่งวันเมื่อได้ยินข่าวไม่ดี บางคนอาจจมกับความรู้สึกนั้นไป 3 วัน 5 วัน หรือ 1 สัปดาห์ ซึ่งทางการแพทย์ยึดหลักว่าหากอารมณ์เศร้าซึมอยู่นานเกิน 2 สัปดาห์ คุณอาจเข้าข่ายเป็นภาวะซึมเศร้า" ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบาย
ผศ.นพ.ภุชงค์ อธิบายต่อว่า ซึมเศร้าไม่ใช่แค่ความรู้สึกเศร้าหรือรู้สึกเหงาหงอยแต่รวมถึงการไม่มีความสุขจากสิ่งที่เคยสร้างความสุข เช่น อาหารโปรดที่ชอบกินกินแล้วไม่อร่อยเหมือนเดิม กิจกรรมที่เคยชอบทำก็ไม่สนุก รู้สึกเฉย ๆ ไม่อยากทำเหมือนก่อน บางคนบอกว่ารู้สึกหมองๆ มัว ๆ เบลอ ๆ บางคนไปถึงจุดที่เกิดความสงสัยกับตัวเองว่าจะอยู่บนโลกนี้ต่อไปทำไม ยิ่งหากเป็นคนที่ไม่พอใจตัวเองมากพอก็อาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือมีความคิดและความพยายามฆ่าตัวตายได้
ก่อนจะบอกต่อว่า สมองคนเราจะแปรเปลี่ยนวิธีคิดไปตามอารมณ์ เช่น รู้สึกผิดหวัง ก็อาจคิดว่าคงไม่มีหนทางไหนจะดีขึ้นกว่านี้ ไม่มีอะไรสามารถแปรเปลี่ยนได้ หมดหวัง สิ้นหวัง โทษตัวเอง ในเบื้องต้นคนรอบข้างอาจช่วยจากการพาไปทำกิจกรรม เพราะคนไข้บางรายเมื่อได้ออกไปทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวมากขึ้น ขยับตัวมากขึ้น รู้ข่าวสารจากโลกภายนอกมากกว่าความคิดภายในหัวตัวเองก็สามารถช่วยได้ แต่หากเริ่มสังเกตว่าเขาเริ่มพูดเรื่องการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตายต้องรีบพามาพบจิตแพทย์โดยด่วน
"เป็นมะเร็งอาจจะยังเหลือเวลาอยู่ได้เป็นปี ๆ แต่ถ้าคิดจะฆ่าตัวตายแล้วทำได้สำเร็จ ชีวิตก็คือจบเลยตรงนั้น" ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นอาจมีระดับความรุนแรงกว่า เนื่องจากเป็นวัยที่พยายามหาสิ่งที่เข้ามาทดแทนทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุข บางคนอาจอยากทำอะไรที่สะใจ หรืออาจใช้อบายมุขหรือสารเสพติดในการแก้ปัญหา เพราะสิ่งเหล่านี้ให้ผลอย่างรวดเร็ว ขณะที่วัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่มีภาวะและโรคนี้ก็อาจอยากอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ มากกว่า
การให้คุณค่าและความหมาย
ผศ.นพ.ภุชงค์ กล่าวว่า การใช้โซเชียลมีเดีย 99% มีผลต่ออารมณ์และจิตใจ เพราะเป็นสิ่งเร้าที่อาจทำให้รับรู้การเปรียบเทียบได้ค่อนข้างเยอะ คนส่วนใหญ่อาจอ่อนไหวและตีความกับสื่อต่าง ๆ ที่เราได้รับ เช่น หลายคนวัดคุณค่าและความหมายของชีวิตว่าชีวิตที่ดีหรือชีวิตที่มีความสุขจะต้องซื้อรองเท้ารุ่นนี้เหมือนคนนั้น ไปเที่ยวที่นั่น กินข้าวร้านนี้ เราอาจใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัววัดคุณค่าของเรา ซึ่งความจริงแล้ว คุณค่าของคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน บางคนอาจยึดผลการเรียน บางคนแค่ได้เล่นเกมก็รู้สึกดีมีความสุขแม้คนอื่นอาจจะมองว่าการเล่นเกมของเขาไม่เกิดประโยชน์ก็ตาม
การรักษา
ผศ.นพ.ภุชงค์ แนะนำว่า ต้องกินยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ อย่าหยุดยาเอง หากกินยาแล้วมีผลข้างเคียง เช่น ง่วง ซึม ไม่สามารถทำงานได้ ควรลดปริมาณยาและกลับไปปรึกษาแพทย์ให้จ่ายยาในปริมาณที่เหมาะสมกับตนเอง
นอกจากการใช้ยาแล้วยังใช้จิตบำบัดในการรักษา คือการนั่งพูดคุยกัน ตั้งคำถามเชิงบวกที่จะไปสู่การแก้ปัญหา เป็นเหมือนการป้อนชุดคำที่ทำให้สมองเกิดการคิดตาม เพราะการพูดคุยเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้คลี่คลายเข้าใจกันได้ เป็นการเปิดใจฟังของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นตัวคนไข้ หรือผู้ปกครอง เช่น ลูกทำงานมาแล้วบ่นว่าเหนื่อย หากพ่อแม่สวนกลับมาว่า ไม่ต้องบ่น พ่อกับแม่ทำงานนี่เหนื่อยกว่าเยอะ ก็ทำให้ลูกไม่อยากจะพูดอะไรต่อ และกลับทำให้เขารู้สึกเหนื่อยมากขึ้นด้วยซ้ำ
หรือแม้กระทั่งคนที่กำลังรู้สึกไม่โอเคกับชีวิต ไม่อยากอยู่ต่อ สมองก็จะเลือกเรื่องหรือเหตุผลมากมายที่สอดคล้องกับความคิดตัวเอง แต่หากลองเปลี่ยนมาตั้งคำถามเชิงบวก เช่น คนที่อยากจะมีชีวิตที่น่าอยู่ต่อไป จะต้องเป็นอย่างไร สมองก็จะตั้งคำถามตามที่สั่ง
“การออกกำลังกายเป็นการรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างเห็นผล ในระดับนานาชาติพบว่าการออกกำลังกายมีผลเป็นบวกและเป็นตัวช่วยอย่างชัดเจน เช่น เลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จิตใจโฟกัสมากขึ้น ที่สำคัญคือตัวเองเริ่มรู้สึกว่าทำได้เหมือนคนอื่น เป็นเสมือนการลิ้มรสความสำเร็จเล็ก ๆ ที่ดี” ผศ.นพ.ภุชงค์ กล่าวทิ้งท้าย
การมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงถือเป็นสิ่งที่ต้องมีคู่กันดั่งคำที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” สสส. สนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาวะดี ออกกำลังกาย หากิจกรรมที่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตใจที่สดใสนะคะ