ชู 4 จ.นำร่องโรงงานสีขาวปลอดเหล้า หลังแรงงานไทยจ่ายค่าเหล้ามากกว่าเดือนละพัน

 


“มูลนิธิเพื่อนหญิง” เผยแรงงานไทยควักจ่ายค่าเหล้ามากกว่าเดือนละพัน พบ 1ใน 3  ติดงอมแงมกรึ๊บทุกวันหลังเลิกงาน  สร้างปัญหาครอบครัว-กระทบงาน  พร้อมชู 4  จังหวัดนำร่องโรงงานสีขาวปลอดเหล้า  ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต  เตรียมดันเป็นกฎหมายสถานประกอบการอุตสาหกรรมปลอดเหล้าทั่วประเทศ


(10ก.พ.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ  มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “การพัฒนานโยบายลด ละ เลิก เหล้า เข้าสู่นโยบายโรงงานสีขาว” โดย มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากสมาคมนายจ้าง และเครือข่ายสหภาพแรงงาน กว่า 100คน เข้าร่วม


นางอัมพร  นิติศิริ  อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงแรงงานฯได้ดำเนินโครงการโรงงานสีขาว เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงงาน ให้นายจ้างและผู้ใช้แรงงานมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดไม่ให้แพร่ขยายเข้าไปในสถานประกอบกิจการและได้นำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลให้กับครอบครัวของนายจ้าง และผู้ใช้แรงงานลดจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ติดยาเสพติดให้มากที่สุด มีโรงงานที่เข้าร่วม34,000แห่งทั่วประเทศ  ครอบคลุมแรงงาน กว่า 3,400,000คน ซึ่งกระทรวงแรงงานจะได้ผนวก โครงการโรงงานสีขาว ลด ละ เลิก เหล้า ของมูลนิธิเพื่อนหญิง ไว้ในโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว


นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ครอบครัว สุขภาพ การทะเลาะวิวาท อาชญากรรม ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมากลุ่มแรงงานประสบปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก จากการเก็บข้อมูลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนงาน 4บริษัท ในปี 2553ได้แก่ 1. บริษัท วาไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) จ.นนทบุรี  2. บริษัท สเต็ปสโตนส์ จำกัด จ.ลำพูน  3. บริษัท ยางโอตานิ จำกัด จ.นครปฐม และ 4. หจก.อุตสาหกรรมผลิตยางไทยสิน จ.สมุทรสาคร จำนวน 604ราย อายุระหว่าง 16-45ปี  พบว่า คนงานกว่า 80%มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ,001-10,000บาทต่อเดือน  โดย 39.2 % มีค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาบริโภค เป็นอันดับ 4  รองจากค่าใช้จ่ายค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าเบ็ดเตล็ดตามลำดับ


นายจะเด็จ   กล่าวว่า  นอกจากนี้ คนงานเกือบ 100 %รู้ว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบก่อให้เกิดอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพที่ทำให้เป็นโรคตับแข็ง ตับอักเสบ และก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว โดย 95.4 % ระบุว่าทำให้คนในครอบครัวทะเลาะกัน 91.7%นำไปสู่ปัญหาการคุกคามทางเพศ 98.3 %ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครอบครัว  ขณะที่ 92.2 %มีผลต่อการทำงาน เช่น ทำงานไม่ไหว ทั้งนี้ คนงาน 26.6 %มีทัศนคติว่าการดื่มสุราทำให้มีความเป็นชาย และ 30.9%เห็นว่ายิ่งดื่มสุราได้มากยิ่งแสดงว่าเก่ง ซึ่งเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง               


“ผลสำรวจพบว่า คนงานเกือบ 1ใน 4  หรือ 24.4%ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเหล้ามากกว่า 1,000บาทต่อเดือน ขณะที่คนงาน 17.5 % เสียค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 401-600บาทต่อเดือน และ 13.2 % เสียค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 801-1,000บาทต่อเดือน  โดย 3อันดับยอดนิยม คือเบียร์ สุราและสุราพื้นบ้าน โดยเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เป็นช่วงที่มีการดื่มมากที่สุด 84.2%  รองลงมาการเป็นการเลี้ยงฉลองกับเพื่อน 61.2%และดื่มกับคนในครอบครัว 12.9 %”นายจะเด็จกล่าว


นายจะเด็จ   กล่าวว่า  ในด้านพฤติกรรมการดื่ม คนงานเกือบ 1ใน 3หรือ  30.4 %ดื่มเป็นประจำทุกวันหลังเลิกงาน โดยคนที่ดื่มสุราแล้วทำร้ายคนในครอบครัว เป็นบางครั้ง 8.6 % เป็นประจำ 2.1 %และที่ดื่มสุราจนมีผลกระทบต่อการทำงาน ไปทำงานไม่ไหวในวันถัดไป เคยเป็นบางครั้ง 36.3 %และ เป็นประจำ 4.1 % ทั้งนี้คนงานมากกว่า 60%ระบุว่าสามารถหาซื้อดื่มได้ไม่จำกัดเวลา และมี 57.7%ที่รู้ว่ามี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เพื่อใช้ในการจำกัดการดื่มและการจำหน่าย ลดปัญหาสังคม


นายจะเด็จ  กล่าวว่า การดื่มเหล้าของคนงานนำมาสู่ปัญหาหลัก 4ประการ คือ เศรษฐกิจ สุขภาพร่างกายจากการเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท และผลกระทบต่อการทำงาน  ที่ผ่านมามูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ ลด ละ เลิก เหล้า ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผลักดันนโยบายโรงงานสีขาวลด ละ เลิกเหล้า ใน 4จังหวัด นำร่อง ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี และลำพูน ทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการในจังหวัด อาทิ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนา สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายประชาคมงดเหล้า ซึ่งมูลนิธิฯเดินหน้าขยายผลการดำเนินงานต่อไป และยังเตรียมจะผลักดันให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นเขตห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถาวร 


ด้านนายบุญมี จิตรใจ ผู้จัดการบริษัท ยางโอตานิ จำกัด จ.นครปฐม กล่าวว่า บริษัทร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิงดำเนินโครงการโรงงานสีขาวฯตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551ทำกิจกรรมรณรงค์ จัดนิทรรศการให้ความรู้พนักงาน และได้ดำเนินโครงการปฏิญาณตนบวชใจ งดเหล้า ระยะเวลามีตั้งแต่  2วันไปจนถึงตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพนักงาน ส่วนกิจกรรม เช่นงานเลี้ยงปีใหม่ที่จัดให้กับพนักงาน ก็จะไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่โรงงาน หอพักพนักงาน จะถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ปลอดเหล้า


“หลังดำเนินโครงการฯพนักงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นไม่มีการทะเลาะวิวาท หรือขาดงาน พนักงานที่เลิกเหล้ามีเงินออมในสหกรณ์ออมทรัพย์มากขึ้น การทำงานก็มีประสิทธิภาพ  ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลง”  ผู้จัดการบริษัทยางโอตานิฯกล่าว


 


 


ที่มา:สำนักข่าว สสส.

Shares:
QR Code :
QR Code