ชูเมนูฟาสต์ฟู้ดทางเลือกปรับพฤติกรรมผู้บริโภค

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ชูเมนูฟาสต์ฟู้ดทางเลือกปรับพฤติกรรมผู้บริโภค thaihealth


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสัมมนาแนวทางเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐศาสตร์สุขภาพกับการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร มิติใหม่ของการทำงานส่งเสริมสุขภาพ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 คือ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี


ผศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ นักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กินอะไรก็ได้ ไม่เรื่องมาก ดังนั้นการจูงใจด้วยการกำหนดทางเลือกมาตรฐาน Default Option ด้วยการกำหนดหรือจำกัดสิทธิทางเลือกเมนูเป็นมาตรการที่ได้ผล ตัวอย่างเช่น การทดลองกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีเบอร์เกอร์ไก่และเบอร์เกอร์ปลา พบว่า หากตั้งเบอร์เกอร์ไก่เป็นทางเลือกมาตรฐานจะมีกลุ่มคนที่เลือกไก่ร้อยละ75.3 ในขณะที่ถ้าไม่กำหนดทางเลือกมาตรฐานจะมีผู้เลือกซื้อเบอร์เกอร์ไก่เพียงร้อยละ 54.5 เท่ากับว่า การมีทางเลือกมาตรฐานทำให้คนเลือกเบอร์เกอร์ไก่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.8 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอาหารประเภทนั้นๆ เป็นที่คุ้นเคยเพียงใด นอกจากนี้ยังพบว่า การให้ข้อมูลด้านโภชนาการในรูปแบบเมนูแนะนำที่มีลักษณะทางโภชนาการที่ดี เป็นคุณสมบัติของรายการอาหารประเภทเดียวที่มีประสิทธิผลแต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตามยิ่งคนได้รับอาหารปริมาณมากจะยิ่งบริโภคมาก ดังนั้นปริมาณอาหารที่จัดให้จึงมีผลกับพฤติกรรมการบริโภค หากสามารถจัดการดูแลขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อสุขภาพแล้ว น่าจะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เกินพอดีได้ หากเรามีนโยบายสนับสนุนให้ร้านอาหารต่างๆ เสนอรายการอาหารชุดที่มีผักและผลไม้มากขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กมีสุขภาพที่ดีขึ้น และเป็นการสร้างนิสัยการเลือกอาหารที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต


ด้าน ดร.เรณู การ์ก รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 ขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านนโยบายที่เอื้อไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งโรคไม่ติดต่อหรือโรคจากวิถีชีวิตคือประเด็นสำคัญด้านสุขภาพที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคจากวิถีชีวิตมากถึง 15.1 ล้านคนทุกปี โดย 85% ของยอดผู้เสียชีวิต อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง นับเป็นปัญหาหนักในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากขาดความพร้อมในการดูแลรักษาและการป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะตามมา

Shares:
QR Code :
QR Code