ชุมชนเป็นฐาน ‘เบาหวาน’ เป็นศูนย์
ที่มา : เว็บไซต์ gotoknow.org โดย ตีฆ้องร้องป่าว ใน สร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ gotoknow.org โดย ตีฆ้องร้องป่าว ใน สร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
ชุมชนเป็นฐาน "เบาหวาน" เป็นศูนย์ “ลุงสนองเกือบถูกตัดนิ้วเท้า แต่โครงการฯ และทีมงานของ ผศ.รุ่งศักดิ์ เข้าไปยังชุมชนทันเวลา ได้ช่วยรักษาให้เป็นพิเศษ แผลเน่าเปื่อยที่เป็นอยู่จึงดีขึ้นเรื่อยๆ เหลือแต่เล็บเท้าที่เป็นเชื้อรา และหนังตายด้านที่ต้องขูดเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับกลายเป็นแผลใหม่ขึ้นมาอีก ขณะเดียวกันทุกวันก็ทำความสะอาดเท้าอย่างพิถีพิถันมากกว่าเดิม และใช้น้ำเกลือแช่เท้าให้นิ่ม ก่อนขูดเล็มหนังและเล็บที่หนากว่าปกติ”
เบาหวาน เป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่บ่อนทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก เพราะผู้ป่วยมักประสบกับภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากมาย เช่น จอประสาทตาเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไต ความผิดปกติของปลายระบบประสาท และเป็นแผลเรื้อรังที่เท้า เป็นต้น
สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ รายงานว่าในปี พ.ศ.2558 ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกมีจำนวน 415 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนในปี พ.ศ.2583 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานจำนวน 5 ล้านคน และปัจจุบันประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ส่วนในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยเบาหวานถึงปีละ 2 หมื่นคน แต่ในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวานร้อยละ 50 ยังไม่ทราบว่าตัวเองมีเบาหวาน ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัย จนสูญเสียโอกาสในการทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรีบดำเนินการป้องกันและรักษา
เมื่อสำรวจสุขภาพของคนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป พบว่าแนวโน้มของโรคเบาหวานยังคงสูงขึ้น จากร้อยละ 6.9 หรือ 3,185,639 คนเมื่อปี พ.ศ.2552 เป็นร้อยละ 8.9 หรือประมาณ 5 ล้านคนในปี พ.ศ.2557 ซึ่งพบในกลุ่มผู้หญิงร้อยละ 9.8 ผู้ชายร้อยละ 7.8 ส่วนกลุ่มอายุที่เป็นโรคเบาหวานมากที่สุดคือช่วง 60-69 ปี เจอร้อยละ 21.9 ในผู้หญิง และร้อยละ 15.9 ในผู้ชาย
ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ประสบกับปัญหาเกี่ยวกับโรคเบาหวานเช่นกัน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้ช่วยกันรณรงค์และดูแลผู้ป่วย โดยขอรับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนิน โครงการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อสร้างเสริมพฤติกรรมการดูแลเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ในพื้นที่ตำบลสันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
ผศ.รุ่งศักดิ์ ศิรินิยมชัย หัวหน้าโครงการฯ เล่าว่า เมื่อลงพื้นที่พบว่าชาวบ้านถูกปล่อยปละละเลยเรื่องเท้ามานาน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไม่รู้เรื่อง ส่วนเจ้าหน้าที่มีงานหลายด้าน ไม่ได้ใส่ใจเรื่องเท้าเป็นพิเศษ ผู้ป่วยบางรายถูกตัดนิ้วเท้า ตัดขาจากการเกิดแผลเรื้อรัง จึงนำความรู้ “หลักสูตรการดูแลเท้า” ของ ศ.น.พ.เทพ หิมะทองคำ จากมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน มาใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน แต่ผลที่เกิดขึ้น คือ ถ้าดูแลเฉพาะผู้ป่วย จะไม่ได้ผล จำเป็นต้องดึงครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ อสม.มาร่วมด้วย
ผศ.รุ่งศักดิ์ ได้แนะนำการดูแลตัวเอง หรือข้อปฏิบัติของคนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ในบ้านว่ามีวิธีการง่ายๆ 9 ขั้นที่นำไปใช้ได้ คือ 1.ตรวจดูเท้าและฝ่าเท้า 2.ตรวจดูซอกนิ้วเท้า 3.ล้างเท้าและฝ่าเท้า 4.ล้างซอกนิ้วเท้า 5.เช็ดเท้ากับฝ่าเท้าให้แห้งหลังจากล้างเท้า 6.เช็ดซอกนิ้วเท้าหลังการล้างเท้าให้แห้ง 7.ทาโลชั่นที่เท้า (ยกเว้นซอกนิ้วเท้า) 8.ตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมที่รองเท้าก่อนสวมเสมอ 9.สวมรองเท้าที่หุ้มปลายนิ้วและส้นเท้าก่อนออกจากบ้าน
“การที่ อสม.เข้าใจเรื่องเท้ามากขึ้นและนำไปรณรงค์ให้คำแนะนำกับผู้ป่วยหรือญาติ ช่วยกระตุ้นการดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวานได้เป็นอย่างดี สังเกตได้ว่าการเกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยลดลง ส่วนที่เคยเป็นแผลเรื้อรังก็ได้รับการดูแลรักษา จนแผลค่อยๆ หาย เหลือแต่ปัญหาหนังตายด้านที่ต้องได้รับการขูด ลดความเสี่ยงจากการถูกตัดนิ้วเท้าหรือเท้าได้” ผศ.รุ่งศักดิ์ กล่าว
เมื่อผู้ป่วยได้รับการปฏิบัติอย่างถูกวิธี อาการก็จะดีขึ้นเรื่อย อย่างกรณีของ ลุงสนอง คำวาส อายุ 73 ปีจากบ้านกอกหม่น 5 ต.สันปูเลย เขาเป็นเบาหวานมา 49 ปี ต้องฉีดอินซูลินเข้าร่างกายทุกวัน เคยวูบหมดสติมาแล้วถึง 4 ครั้ง และมีแผลที่เท้าเรื้อรังมา 4-5 ปี เนื่องจากหนังฝ่าเท้าตายด้าน ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้นไม่พอ จนเกิดหนองและแผลเน่าเป็นสีดำคล้ำ
ลุงสนองเกือบถูกตัดนิ้วเท้า แต่โครงการฯ และทีมงานของ ผศ.รุ่งศักดิ์ เข้าไปยังชุมชนทันเวลา ได้ช่วยรักษาให้เป็นพิเศษ แผลเน่าเปื่อยที่เป็นอยู่จึงดีขึ้นเรื่อยๆ เหลือแต่เล็บเท้าที่เป็นเชื้อรา และหนังตายด้านที่ต้องขูดเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับกลายเป็นแผลใหม่ขึ้นมาอีก ขณะเดียวกันทุกวันก็ทำความสะอาดเท้าอย่างพิถีพิถันมากกว่าเดิม และใช้น้ำเกลือแช่เท้าให้นิ่ม ก่อนขูดเล็มหนังและเล็บที่หนากว่าปกติ
ความเสี่ยงการเกิดแผลเรื้อรังที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน สาเหตุหลักมาจากสวมรองเท้าไม่เหมาะสม เดินไม่ระมัดระวัง เพราะปลายประสาทเสื่อม จึงไม่ค่อยรู้สึก และขาดความรู้เรื่องการดูแลแผลที่เท้า แม้ว่าจะได้รับคำแนะนำจากหมอหรือพยาบาลแล้ว แต่ผู้ป่วยมักจะไม่นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
ณัฎฐนิช บุญหนัก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านกอกหม่น ต.สันปูเลย ผู้รับผิดชอบงานกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยในพื้นที่ในบริการของ รพ.สต.บ้านกอกหม่น ถูกตัดเท้าไปถึง 4 ราย เมื่อมีโครงการของ สสส.เข้าไป ก็เป็นเหมือนต้นแบบปฏิบัติในการดูแลเท้า ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน คือคนไข้ใส่ใจเท้ามากขึ้น ความเสี่ยงต่อการมีแผลลดลง ทั้งการดูแลดังกล่าวยังช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ปลายประสาทจึงเสื่อมน้อยลง
ขณะเดียวกัน วิจิตรา ตันติชวาลวงศ์ ผอ.รพ.สต.บ้านกอกหม่น เล่าเสริมว่า รพ.สต.บ้านกอกหม่น ให้บริการประชาชนในพื้นที่ ต.สันปูเลย 15 หมู่บ้านและหมู่บ้านจัดสรรอีกหลายแห่งรวมประชากรกว่า 12,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเบาหวาน 200 กว่าคน ที่ส่วนใหญ่เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะที่เท้า มีแผลเรื้อรัง เมื่อโครงการนี้เข้ามา ทำให้ผู้ป่วยมีคู่มือและเกิดทักษะในการดูแลเท้า นำกลับไปทำที่บ้านก็มีคนในครอบครัวช่วยดูแล ขณะที่แกนนำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น อสม. จะเข้าไปประสานกับผู้นำหมู่บ้าน เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิดอีกทางหนึ่ง
ในส่วนของ รพ.สต.บ้านกอกหม่นเอง เมื่อออกพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ ก็จะนำคู่มือในการดูแลเท้าไปเผยแพร่ พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยได้ปฏิบัติอย่างถูกวิธี เน้นให้ชุมชน สังคมรับรู้ ตระหนัก และมีส่วนร่วมป้องกัน แก้ไข ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนพิการทุพพลภาพได้
สำหรับกำลังสำคัญที่ช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนอย่าง อสม.นั้น การติดอาวุธทางปัญญา และเพิ่มทักษะในดูแลผู้ป่วยในชุมชนนับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง
แอร์ กันธรรม ประธาน อสม.บ้านสันต้นดู่ หมู่ 2 ต.สันปูเลย บอกว่า หลังจากร่วมอบรมทำความเข้าใจในโครงการแล้ว เมื่อมีโอกาสก็จะเน้นให้คำแนะนำ เรื่องการดูแลเท้ากับผู้ป่วยเบาหวานเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะโดยการติดตามเยี่ยมบ้าน การออกตรวจเคลื่อนที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. หรือในงานศพ งานบุญ ช่วยให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดเกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลเท้า ซึ่งไม่เพียงแค่ป้องกันโรคแผลเรื้อรังเท่านั้น หากยังทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยกับผู้ป่วย ผู้ป่วยกับ อสม. หรือผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ส่งผลในเชิงจิตวิทยา เกิดกำลังใจ และความตั้งใจในการดูแลรักษาเท้าเป็นอย่างดี
กระแสตื่นตัวเพื่อดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ยังทำให้กลุ่มคนทำงานได้ต่อยอด ตั้ง “ชมรมรักษ์เท้าผู้ป่วยเบาหวาน ต.สันปูเลย” และได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลสันปูเลย กับกองทุนหลักประกันสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อริเริ่มทำ “โครงการเตือนภัยเบาหวาน” ให้ตัวเลขผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดเท้าใน ต.สันปูเลย เป็นศูนย์ และมีความยั่งยืนสืบไป