ชุมชนจักรยานดงกลาง…ปั่นจนต้องกดไลค์
'จักรยาน ไม่ใช่แค่พาหนะ แต่สำหรับผมจักรยานคือปรัชญาชีวิตที่แสดงถึงความพอเพียง ความสุขในสังคม รวมไปถึงความเอื้ออารี"
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กรรมการบริหารกลุ่มแผนส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. และที่ปรึกษา ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยกล่าวถึงเอกลักษณ์ของชุมชนจักรยานในงาน CAR FREE DAY บ้านทุ่ง ณ วัดดงกลาง ตำบลดงกลาง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
"เวลาพูดถึงจำนวนผู้ใช้จักรยานในประเทศไทย เราจะเห็นว่ามีลักษณะคล้าย ๆ กับพีระมิดสามเหลี่ยม ด้านบนสุดคือนักแข่งจักรยาน หรือผู้ที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศ ซึ่งมีไม่เกิน 1 พันคน ถัดลงมาตรงกลางจะเป็นนักจักรยาน ซึ่งในปัจจุบันจะพบเห็นตามสื่อต่าง ๆ และกำลังเป็นกระแส กลุ่มนี้จะแต่งกายเต็มที่ อุปกรณ์พร้อมแต่จริงๆ แล้วก็มี อยู่ไม่เกิน 2 แสนคน และส่วนฐาน ล่างสุดของพีระมิดที่มีอยู่มากกว่า 5 แสนคน คือ ชาวบ้านที่ขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ต้องอาศัยคนกลุ่มนี้" ดร.ธงชัย อธิบาย
ขณะที่ "พี่ปาน" หรือ "นายวสันต์ หรี่สมวงศ์" เจ้าหน้าที่มูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม เล่าถึงบทบาทในการเข้ามาจุดประกายให้เกิด ชุมชนจักรยานดงกลาง ว่า ที่นี่มีชาวบ้านที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แรกเริ่มเราเข้ามาช่วยชาวบ้านในการสำรวจทรัพยากร เช่น มีการใช้จักรยานเท่าไหร่ เศรษฐกิจของครัวเรือนเป็นยังไง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นก็ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลและชี้ให้เห็นว่า หากมีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและต่อสังคมจะเป็นอย่างไร
"ชาวบ้านที่นี่มีความตื่นตัวกันมาก ส่วนองค์กรท้องถิ่นและผู้นำต่างก็ ให้ความสนใจ และที่สำคัญคือ มีวัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน"
พี่ปานเล่าต่อว่า หลังจากทำความเข้าใจกับชาวบ้านจนเป็นที่ยอมรับ ก็ได้มีการอบรมอาสาสมัครซ่อมจักรยาน ส่งเสริมการนำจักรยานเก่ามาใช้ รณรงค์การใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการทำบันทึกความร่วมมือเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรจุแผนการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนมา ถึงปัจจุบันมีการพัฒนาข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายพื้นที่การ ใช้จักรยานออกไปยังหมู่บ้าน อื่น ๆ ด้วย
"สัปดาห์หนึ่งชาวบ้านจะรวมตัวกันปั่น 4 วัน เป็นการปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายตอนเย็นในชุมชน พอถึงสัปดาห์สุดท้ายของทุกเดือนก็จะไปปั่นออกนอกพื้นที่ นอกตำบล พวกเขาจะเกิดวิสัยทัศน์ จากการไปเจอสังคมใหม่ เจอเพื่อนต่างวัย หรือวัยเดียวกัน ก็ชวนกันมาปั่นมากขึ้น ส่วนใหญ่เด็ก ๆ จะตื่นตัวมากกว่าผู้ใหญ่ และชักจูงพ่อ แม่พี่น้องให้มาปั่นจักรยานด้วยกันหรือให้พาไปปั่น พอผู้ใหญ่ไปลองปั่นกับเด็ก ก็รู้สึกดี เพราะได้ออกกำลังกาย ได้พลัง และพอทุกคนเริ่มตื่นตัวชุมชนจักรยานดงกลางก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ผลที่ได้ก็ น่าดีใจและเกินที่คาดไว้มาก" พระครูวิจารณ์ ธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดดงกลาง กล่าวถึงแนวคิดและว่า ต้องการให้วัดเป็นศูนย์กลางในการรวมจิตใจของประชาชน
คำบอกเล่าจาก นางปาน จันทร์ดี อายุ 50 ปี สมาชิกชุมชนจักรยานรุ่นบุกเบิกเล่าว่า ตนปั่นจักรยานมาตั้งแต่ตอนเป็นสาว ๆ พอเข้าชมรมมาก็มีโอกาสชักชวนชาวบ้านคนอื่น ๆ มาร่วมกิจกรรม และตนเองก็มีโอกาสใช้จักรยานมากขึ้น ไม่ว่าจะปั่นไปทำนา มาตลาดนัด ไปวัด และไปบ้านยาย
"เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครใช้จักรยานหรอก เพราะขี่รถมอเตอร์ไซค์สะดวก กว่า แต่เดี๋ยวนี้ปั่นกันเกือบทุกบ้าน เราเข้าชมรมมาตั้งแต่แรกเริ่มตอนนี้ก็ 3 ปีแล้ว มีโอกาสไปอบรมที่ต่างจังหวัด และก็นำความรู้มาชักชวนคนอื่น ๆ บอกเขาว่ามาขี่ออกกำลังกายกันเถอะ ทั้งประหยัดและสุขภาพแข็งแรง แถม ไม่ปวดเมื่อยเนื้อตัว ร่างกายเราไม่ อ่อนแอ โรคภัยก็ไม่มีนะ แถมระบบ ไหลเวียนเลือดก็ดี" สมาชิกชุมชนจักรยานยืนยัน
กิจกรรมการปั่นจักรยานนอกจากจะส่งผลดีในด้านสุขภาพอนามัย ยังเป็นตัวช่วยในการสานสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและชุมชนได้ดีด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์