ชีวิตที่่เลือกได้ เพียง… เข้าใจ และเชื่อมั่น
“…บางทีเครียดอยากกินเหล้าให้เมาไปเลย พอเห็นเสื้อตัวนี้ก็เตือนสติตัวเองได้ รักตัวเองมากขึ้น ไม่ทำร้ายตัวเอง…เตือนตัวเองว่า …อยากมีสุขภาพดีต้องดูแลตัวเอง…” คุณสุกันยะ พลดี เจ้าของร้านคาราโอเกะกิ่งแก้ว เชื่อไหมว่า แค่เสื้อตัวเดียวก็สามารถทำให้คนหลายๆ คนฉุกคิดและเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ดีต่อตัวเองได้
จริงๆ แล้ว เสื้อยืดธรรมดาๆ สกรีนข้อความด้านหน้าว่า “ผู้หญิงสุขภาพดีเริ่มที่ตัวเอง” ตัวนี้ไม่ใช่ของวิเศษที่จะดลบันดาลให้ใครทำหรือไม่ทำอะไรได้ หากแต่นัยที่แฝงอยู่ในเสื้อนั้นต่างหากที่เป็นสิ่งวิเศษช่วยกระตุ้นเตือน เหนี่ยวรั้งให้บรรดาสาวคาราโอเกะกลุ่มนี้ เลือกที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง
“ใส่ครั้งแรก เขาเอาเสื้ออะไรมาให้ใส่ นึกว่าเป็นเหมือนชุดฟอร์มการทำงาน… ใส่เสื้อผู้หญิงสุขภาพดีแต่เราเมานี่หว่า ก็เลยไม่ค่อยแน่ใจ เพราะเหมือนเราต้องเป็นคนนำให้คนอื่น ทำให้เราต้องขวนขวายหาความรู้เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนคนอื่น เราก็หมั่นเช็คร่างกายของเรา ต้องดูแลตัวเองตลอด” คุณป๊อกแกนนำ “เพื่อนช่วยเพื่อน” กล่าว
สาวคาราโอเกะ เป็นคำที่เราใช้เรียกคนทำงานในร้านคาราโอเกะย่านบางบอน จอมทอง และบางขุนเทียนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่าย “เพื่อนช่วยเพื่อน” นี้ทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.)ในโครงการเสริมสร้างด้านสุขภาวะทางเพศและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของพนักงานหญิงในร้านคาราโอเกะ ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
พนักงานร้านคาราโอเกะเหล่านี้มาจากที่ต่างๆ แต่ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม ความอบอุ่นในครอบครัว หรือแม้แต่ข้อจำกัดด้านการศึกษา ทำให้พวกเธอเดินเข้ามาใช้ชีวิตบนถนนเส้นเดียวกัน
จากการสำรวจข้อมูลพนักงานร้านคาราโอเกะ จำนวน 90 คนของมูลนิธิเพื่อเยาวชนบทพบว่า พวกเธอเหล่านี้มีการศึกษาสูงสุดเพียงชั้นมัธยมต้นหรือ ม.3 เท่านั้น และ มีเกือบครึ่งหนึ่งที่จบการศึกษาแค่ชั้นประถมหรือ ป.6 จากการสำรวจยังพบว่าพนักงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง หรือบัตรประกันสังคม ไม่สบายก็ซื้อหายามากินเอง และมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เคยไปตรวจสุขภาพประจำปี
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาท้องไม่พร้อม แท้ง การถูกโดดเดี่ยวจากสังคม ถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดี รวมถึงการไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพียงเพราะเป็นกลุ่มคนที่ยากจะเข้าถึง ส่วนคุณภาพชีวิตอื่นๆ นั้น สำหรับคนที่ไม่มีค่าจ้างรายเดือน ไม่มีสวัสดิการใดๆ จากที่ทำงาน เพียงมีรายได้จากค่านั่ง drink กับแขก ค่าทิป และค่าเชียร์อาหารและเครื่องดื่ม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล้าและเบียร์แล้วแทบจะไม่ต้องพูดถึงเลยว่าเป็นอย่างไร !! โอกาสที่จะได้รับการดูแลเฉกเช่นคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมนั้นจึงแทบไม่มีเลย หากจะกล่าวว่า โครงการเสริมสร้างด้านสุขภาวะทางเพศฯ นี้เป็น
โอกาสแรกที่เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้แก่พวกเธอก็คงไม่ผิดนัก
แต่การเข้าไปทำกิจกรรมในร้านคาราโอเกะของเจ้าหน้าที่โครงการฯ เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาวะทางเพศ การป้องกันตัวเองจากการท้องไม่พร้อม การดูแลสุขภาพตัวเองในด้านต่างๆ การใช้ถุงยางที่ถูกต้อง รวมไปถึงการจัดอบรมนอกสถานที่เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตในแง่มุมอื่นๆ จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ขึ้นเลย หากพวกเธอไม่เปิดรับ และไม่ให้โอกาสตัวเอง
“สิ่งสำคัญของการทำงานกับพนักงานร้านคาราโอเกะก็คือ “การสร้างความเชื่อมั่น” เพราะว่า ถ้าหากเชื่อว่าตัวเองทำได้ก็จะทำให้เกิดพลังสร้างเสริมกำลังใจในการทำงานและหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างก็จะตามมา เช่น การขวนขวายหาความรู้ เกิดค่านิยมในการดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัว ไปจนถึงคนในชุมชน” คุณลัดดาวัลย์ ์หลักแก้ว ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบทกล่าว
“ถ้าไม่มีโครงการฯนี้ เราก็ไม่รู้จักอะไรเลย บางทีเราก็อยู่อีกโลกหนึ่งที่สังคมดูถูกว่าเป็นตัวประหลาด เข้าร่วมโครงการฯแล้วรู้สึกว่ามีคุณค่า น้องๆ ที่มาร่วมเขาก็รู้สึกดี มีคุณค่า จากคนๆ หนึ่งที่ไม่เคยมีความรู้สึกอะไรเลย ปัจจุบันเราไม่ต้องอายคนอื่น” เสียงสะท้อนจากแกนนำเจ้าของร้านคาราโอเกะ
เมื่อมั่นใจว่าตัวเองได้เดินมาบนเส้นทางที่ใช่แล้ว เครือข่าย ”เพื่อนช่วยเพื่อน” จึงเกิดขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาและดูแลในเรื่องสุขภาพแก่เพื่อนพนักงานที่มีอยู่เกือบ 50 คน และร่วมกันทำกิจกรรมในชุมชน โดยนำเสนอข้อมูลความรู้ต่างๆ ด้านสุขภาพ พร้อมรณรงค์ชักชวนให้คนในชุมชนหันมาดูแลสุขภาพของตัวเอง
“อยากให้เพื่อนๆ และน้องใหม่ที่มาทำงาน อยู่ในสังคมนี้ได้นานๆ เท่าที่เขาอยากจะอยู่ให้คนอื่นมองเขาดีๆ .. อยากให้เห็นว่า เราก็ดูแลตัวเอง แม้ว่าจะทำงานอย่างนี้ก็ตาม เลยชักชวนกันมาทำกิจกรรม ช่วยกันบอก ช่วยกันแนะนำว่าเป็นยังไง ทำยังไง แรกๆ ก็ยังไม่เข้าใจกัน ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม แต่พอเราคุยกับเขาบ่อยๆ เขาก็เริ่มเห็นอะไรมากขึ้น จากวันนั้นถึงตอนนี้ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป” คุณป๊อกเล่าด้วยรอยยิ้ม
“การเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเพื่อเสริมพลังสมาชิกในกลุ่ม ทำให้เรารู้สึกดีมากๆ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่เหมือนแต่ก่อนที่คิดว่าเราไม่ดีทำได้แค่นี้” คุณเล็กหนึ่งในแกนนำให้ความรู้ในร้านคาราโอเกะ
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าคนทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง แกนนำสาวคาราโอเกะเหล่านี้ก็เช่นกัน เมื่อได้มีโอกาสเรียนรู้และทบทวนตัวเอง การมองย้อนกลับเข้ามาด้วยใจที่เป็นกลางทำให้พวกเธอสามารถมองเห็นตัวเองได้ชัดเจนขึ้น เห็นบางด้านบางมุมที่สวยงามในชีวิต การแบ่งปันความรู้สึกสุขทุกข์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ทำให้เห็นชีวิตที่หลากหลาย การยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นจึงค่อยๆ เกิดขึ้น
การมองเห็นคุณค่าของตัวเองทำให้พวกเธอคิดเปรียบเทียบชีวิตกับคนอื่นน้อยลง และเริ่มหันกลับมาดูแลตัวเอง ทั้งสุขภาพกายและใจ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้มากที่สุดและใช้ทุนน้อยที่สุดก็คือการเริ่มที่ตัวเอง
“ผู้หญิงสุขภาพดีเริ่มที่ตัวเอง” จึงเป็นคำพูดง่าย ๆ ที่บรรดาแกนนำสาวคาราโอเกะย่านบางบอนเก็บซับไว้ในใจเพื่อใช้เป็นพลังผลักให้ตัวเองก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และยังเป็นคำพูดติดปากที่ใช้ชักชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงให้หันมาดูแลใส่ใจตัวเอง
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เสื้อรณรงค์ผู้หญิงสุขภาพดีตัวนี้ จะมีอิทธิพลต่อพวกเธอมากมาย เพราะมันเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนบางสิ่งที่มีค่าสำหรับพวกเธอนั่นเอง …ผู้หญิงสุขภาพดีเริ่มที่ตัวเอง
ที่มา: แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ