ชาว “โพธาราม” รวมใจสร้างพื้นที่สุขภาวะ

ที่มา : สยามรัฐ


ภาพโดย สสส.


ชาว


เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนัก 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมพาคณะกรรมการบริหารแผนคณะฯ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานในพื้นที่เทศบาล เมืองโพธาราม จ.ราชบุรี ภายใต้การขับเคลื่อน "โครงการพัฒนาพื้นที่ และวิถีชีวิตสุขภาวะในปี 2557-2558" จนกลายเป็นพื้นที่ออกกำลังกายของคนทุกเพศทุกวัยในเมืองโพธารามและอำเภอใกล้เคียง


ชาว


เริ่มต้นด้วยการปล่อยขบวนทีมนักปั่นจากชมรมจักรยานโพธาราม…เมืองคนสวยมาช่วยกันปั่น ตั้งแต่ถนนหน้าอำเภอมุ่งหน้าไปยังร้าน 'Do นม' ณ ชุมชนตลาดบน โดยมี คุณปรีชา ระเวก รองประธาน ชมรมอย่าลืม…โพธาราม รอต้อนรับ พร้อมเล่าให้ฟังว่า ร้านแห่งนี้เป็นจุดนัดพบของนักท่องเที่ยวและยังเป็นจุดแรกที่เชื่อมเครือข่ายการทำงานในโครงการจนเกิดเป็นชมรมและกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกับเครือข่าย 10 ชุมชน ได้มาร่วมขับเคลื่อนกับกลุ่มอรุณอินสยาม (บางกอกฟอรั่ม ในอดีต) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เพื่อฟื้นฟูพื้นที่และกิจกรรมสุขภาวะ


ชาว


นายสวัสดิ์ จังพานิช นากยกเทศมนตรีเมืองโพธาราม กล่าวถึงผลจากการจัดกิจกรรมสุขภาวะด้วยการปั่นจักรยานว่า หลังจากการขับเคลื่อนงานร่วมกันในทุกภาคส่วนส่งผลให้เกิดการร่วมคิด ร่วมทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เกิดเครือข่ายกิจกรรมสุขภาวะในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เกิดกิจกรรมอาสา เช่น ปั่นไปเลี้ยงอาหารผู้สูงอายุ เลี้ยงอาหารเด็กตาพิการ ทอดผ้าป่าเพื่อสร้างอาคารที่พักให้ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งที่บ้านพักคนชรา ทำความสะอาดสะพานและพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเชื่อมกิจกรรมไปยังโรงเรียนต่าง ๆ เช่น ซ่อมจักรยานให้นักเรียน อบรมกฎจราจรเพื่อการปั่นอย่างปลอดภัย รับบริจาคจักรยานแก่นักเรียนยากจน จัดทำเส้นทางปลอดภัยสำหรับการปั่น เป็นต้น


ชาว


คุณอัญชัญ แกมเชย ผู้จัดการโครงการฯ ให้ความเห็นเสริมว่า โครงการนี้มีกลไกการขับเคลื่อนภายใต้ความเชื่อที่ว่า เมืองต้องขับเคลื่อนด้วยพลเมือง เพราะพลเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้าง เมืองสุขภาวะ ในช่วงเริ่มต้นโครงการจึงเริ่มจากการสำรวจทุนทางสังคม เริ่มจากการเข้าไปรู้จักกับกลุ่มคน 'ชมรมอย่าลืม…โพธาราม' พูดคุยกับผู้นำชุมชน ตั้งวงเปิดใจกันหลายครั้ง ขอความร่วมมือไปยังเทศบาลเมืองโพธารามเพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองสุขภาวะ โดยกลุ่มผู้นำจิตอาสาจากการใช้จักรยานเก่าที่มีตั้งเป็น 'ชมรมจักรยานโพธาราม…เมืองคนสวยมาช่วยกันปั่น' และทำให้เกิด 'ชมรมลีลาศ' ตามมา


ชาว


ส่วนประธานชมรมจักรยานโพธาราม…เมืองคนสวยมาช่วยกันปั่น รต.ไชยพงศ์ จิรพฤฒิศิริ เล่าให้ฟังว่า กิจกรรมปั่นจักรยานทำให้สุขภาพสมาชิกจาก 10 ชุมชนแข็งแรงขึ้น หลายคนที่มีโรคประจำตัวอาการของโรคก็ดีขึ้น เช่น คุณอนงค์ เป็นโรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เมื่อก่อนต้องกินยาวันละหลายเม็ดก็สามารถลดเหลือ วันละ 2 เม็ด และไม่มีอาการข้อบวม เขาจึงชวนคนในบ้านออกมาปั่นจักรยานด้วยกันจนหลานสาวได้เป็นนักแข่งจักรยาน ส่วนคุณชูชาติเคยเกิดอุบัติเหตุทำให้ปวดหลังมาอย่างต่อเนื่อง จนวันหนึ่งได้มาร่วมปั่นจักรยานและพบว่าจู่ ๆ อาการปวดหลังก็หายไป จึงได้ชวนทุกคนในครอบครัวออกมาปั่นร่วมกัน


"กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น ได้พบเจอกันบ่อย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน หลายคนพูดตรงกันว่าชมรมจักรยานฯ เป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ สมาชิกมีความผูกพันกัน นอกจากจะได้สุขภาพร่างกายที่ดีแล้ว ยังได้สุขภาพจิตใจที่ดีตามมาด้วย" รต.ไชยพงศ์ เล่า


ชาว


เช่นเดียวกับ คุณอัจฉรา จำปาทอง ประธานชมรมลีลาศ ที่บอกว่า ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอรุณอินสยาม แล้วเทศบาลเมืองโพธารามรับไม้สนับสนุนต่อกระทั่งตอนนี้ชมรมสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง จากสมาชิกประมาณ 30 คน มีสมาชิกในกลุ่มยืนยันว่า เคยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผ่านการรับเคมีบำบัดมาแล้ว 9 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 7 เริ่มแพ้เคมีจนได้เข้าชมรมลีลาศ เมื่อเข้ารับเคมีบำบัดครั้งที่ 9 หมอบอกว่าจะไม่ให้ยาแต่ให้กินอาหารเป็นยา ออกกำลังกาย ทำจิตใจให้เข้มแข็ง สัก 3 อาทิตย์ หลังจากนั้นเมื่อกลับไปตรวจหมอจึงบอกว่าผลเลือดเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว น่าแปลกมากเพียงการเต้นลีลาศเปลี่ยนความโชคร้ายให้กลายเป็นดี มีร่างกายและจิตใจที่สดชื่น


ชาว


ในส่วนของหน่วยงานหลักที่สนับสนุนโครงการอย่าง สสส. รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า สสส. มีหน้าที่ส่งเสริมให้คนไม่เจ็บป่วยหรือเป็นคนปกติให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่โครงการได้ทำนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายของ สสส. คือส่งเสริมให้คนมีสุขภาพดีในทุกมิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา เพราะเมื่อมีคนป่วย 50% ขึ้นอยู่กับการรักษา อีก 50% ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งกินดี อยู่ดี ไม่เครียด และออกกำลังกาย จากการลงพื้นที่ครั้งนี้เห็นได้ว่า อ.โพธาราม มีจุดสำคัญที่จะเป็นต้นแบบเกิดพลังชุมชนให้คนลุกมาดูแลตัวเองจากการที่มีกลุ่มผู้นำต่าง ๆ มีวิสัยทัศน์ที่ร่วมสร้างสุขภาวะให้ประชาชน ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำงานง่ายขึ้นจนนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง


ชาว

Shares:
QR Code :
QR Code