ชะลอติด’ฉลากขนม’ชี้ไฟจราจรเข้าใจง่าย
เครือข่ายหนุนฉลากสีสัญญาณ วอนชะลอแนวทางจีดีเอติดฉลากขนม แนะควรฟังความคิดเห็นรอบด้าน ระบุแบบไฟจราจรเข้าใจง่ายกว่า
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเสนอกระทรวงสาธารณสุขปรับฉลากอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีบางชนิด จากเดิมมีลักษณะเป็นตารางโภชนาการทั่วไป เป็นฉลาก “จีดีเอ” (gda=guideline daily amounts) รูปทรงกระบอกแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมันโซเดียม พร้อมดันเข้าคณะกรรมการอาหารในวันที่ 7 เมษายนนี้ ก่อนประกาศใช้กลางปีนี้โดยไม่เอาสัญญาณไฟจราจร อ้างความหมายไม่ชัดเจนนั้น
เมื่อวันที่ 2 เมษายน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ประธานเครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารแบบสีสัญญาณ หรือสัญญาณไฟจราจร กล่าวว่า ต้องถามว่าการดำเนินการเรื่องนี้เร็วเกินไปหรือไม่ เนื่องจากการพิจารณาหรือตัดสินใจใช้ประกาศใดๆ ต้องมีการประเมินประโยชน์ที่ได้รับ ที่สำคัญต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งเครือข่ายมองว่าแม้ อย.จะปรับฉลากโภชนาการมาใช้แบบจีดีเอ แต่การสื่อความหมาย การสร้างความเข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี เนื่องจากต้องยอมรับว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่อเข้าไปซื้อของจะมีกี่คนที่ใส่ใจอ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับหน่วยบริโภคต่อวัน ขณะที่ฉลากในรูปแบบสีสัญญาณจราจรนั้น แม้จะมีจำนวนการบริโภคต่อหน่วยผลิตภัณฑ์เหมือนกัน แต่ที่สำคัญมีการใช้สีในการสื่อความหมายให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งในต่างประเทศที่มีการนำมาตรการลักษณะนี้ไปใช้แล้วเคยทำการศึกษาพบว่า การใช้สีสัญญาณเขียว เหลือง แดงช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นใน 4 วินาที
นพ.ทักษพลกล่าวว่า ทางเครือข่ายจึงอยากขอร้องให้ อย. ชะลอการพิจารณาการปรับฉลากจีดีเอออกไปก่อน เนื่องจากอยากให้ฟังความเห็นอย่างรอบด้านมากกว่านี้ โดยเร็วๆ นี้ทางเครือข่ายจะมีการหารือกับเครือข่ายโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการดำเนินการเรื่องนี้พร้อมทั้งจะเชิญ อย. พูดคุยถึงประเด็นที่ยังติดขัดอยู่
“เรื่องนี้อยากให้รอก่อนและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนประกาศใช้ ส่วนเหตุผลที่ว่ายังไม่ถึงเวลา ควรทำความเข้าใจกับผู้บริโภคก่อนที่จะเปลี่ยนฉลากเป็นแบบสีสัญญาณนั้น ต้องถามกลับว่า ในเมื่อผู้บริโภคยังไม่เข้าใจ ทำไมไม่ใช้วิธีแบบง่าย โดยการใช้สีสัญญาณไฟจราจรย่อมง่ายกว่าในการตัดสินใจ และไม่ได้ช่วยให้ตีความหมายผิด เนื่องจากสีเขียวไม่ได้หมายถึงให้บริโภคได้ตลอดหรือสีแดงห้ามบริโภคเลย” นพ.ทักษพลกล่าวและว่า ขณะที่การติดฉลากแบบจีดีเอ แม้จะดีกว่าแบบเดิมที่เป็นตารางโภชนาการทั่วไปแต่จะมีผู้บริโภคสักกี่คนเข้าใจว่า ปริมาณน้ำตาล 2 กรัม มากหรือน้อยเกินไป แต่หากเป็นสีสัญญาณจราจรหากอยู่ในปริมาณที่กำหนด นอกจากจะมีตัวเลขแสดงคุณค่าสารอาหารแล้ว ยังมีสีในการช่วยสื่อสารที่ชัดเจนขึ้น
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมอนามัยกล่าวว่า จริงๆ การปรับฉลากโภชนาการไม่จำเป็นต้องรอเวลา อย่างที่ อย.ให้เหตุผลว่า เรื่องนี้ควรปูพื้นความรู้โดยจัดทำเป็นแบบจีดีเอก่อนแล้วค่อยขยายเป็นสัญญาณไฟจราจรในอนาคต เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้วสามารถปรับเปลี่ยนเป็นฉลากสีสัญญาณได้ทันที เพียงแต่ใช้วิธีนำร่องในบริษัทที่ต้องการเข้าร่วมเท่านั้น เป็นการทดลองเหมือนในอังกฤษที่มีการใช้ฉลากสีสัญญาณโดยผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมเองเป็นการชิมลางก่อนประกาศใช้จริง ซึ่ง อย. สามารถดำเนินการด้วยวิธีแบบนี้เช่นกัน ส่วนด้านนักวิชาการที่เกี่ยวข้องก็ควรทำวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ข้อมูลชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางรัฐบาลและ อย. ก็ควรทำหน้าที่ในการให้ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าโภชนาการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ต้องร่วมมือกันไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน