ชวน `หนุ่มสาววัยทำงาน` ออกกำลังกายลดโรค

/data/content/25001/cms/e_cfjklmory124.jpg


          กรมอนามัย แนะคนวัยทำงานเคลื่อนไหวออกกำลังระดับปานกลาง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที อาทิ การเดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เพื่อสุขภาพที่ดี


          เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 57 ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์การเคลื่อนไหวออกแรง/ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของคนไทย โดยกรมอนามัยพบว่า ประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 มีกิจกรรมทางกายต่ำ และหากพิจารณาเฉพาะการออกกำลังกายพบว่า ผู้ใหญ่ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที ร้อยละ 22-24 และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ออกกำลังกายเพียงพอต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ประชาชนควรหันมาออกกำลังกายให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ เป็นต้น


          ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนกลุ่มวัยทำงานเป็นวัยที่มักมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาว่าง ทั้งที่ความจริงการออกกำลังกายในวัยนี้นับว่ามีความจำเป็นมาก เพราะร่างกายต้องได้รับการรักษาและฟื้นฟูในส่วนที่สึกหรอไปจากการทำงาน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของการออกกำลังกายให้เหมาะสมตามเวลาและสถานที่ได้ เช่น การทำงานบ้าน หรือฝึกกายบริหารแบบง่ายๆ เช่น การแกว่งแขน การเดินขึ้นบันได การเดินเร็ว การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน เป็นต้น จะช่วยให้การทำงานของปอด หัวใจ กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกลุ่มวัยทำงานควรเคลื่อนไหวออกกำลังระดับปานกลาง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที นอกจากนี้ ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนการออกกำลังกาย และไม่ควรหักโหมมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพได้เช่นกัน และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์


          "ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เลือกออกกำลังกายในสถานประกอบกิจการเพื่อสุขภาพ หรือฟิตเนส ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการที่มีเครื่องมือ สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ดังนี้


          1. มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารและคุณลักษณะภายในมีความมั่นคง แข็งแรง เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร


          2. มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย เช่น มีระบบและรายงานการตรวจเช็กอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาด และพร้อมใช้งานทุกวัน


          3. มาตรฐานการให้บริการ เช่น จัดทำป้ายคำแนะนำ/คำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน


          4. มาตรฐานด้านบุคลากรผู้ให้บริการ เช่น บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ต้องมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือพลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (Instructor Exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา


          และ 5. มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต มีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการซ้อมแผน ได้แก่ แผนการช่วยชีวิตและแผนระงับอัคคีภัยอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์สถานพยาบาลใกล้เคียงติดไว้ในที่มองเห็นชัดเจน นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรแจ้งให้ผู้ดูแลหรือผู้ฝึกสอนทราบ เพื่อป้องกันอันตรายระหว่างการออกกำลังกาย และเจ้าหน้าที่ประจำสถานประกอบกิจการเพื่อสุขภาพควรซักถามประวัติความเจ็บป่วยของผู้มาใช้บริการ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกาย" อธิบดีกรมอนามัยกล่าว


 


 


          ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code