ชวนรู้จัก ความดันในกะโหลกศีรษะ

ที่มา : มติชน


ชวนรู้จัก ความดันในกะโหลกศีรษะ thaihealth

แฟ้มภาพ          


ความดันในกะโหลกศีรษะแตกต่างจากความดัน โลหิตอย่างสิ้นเชิง และการจะทำการประเมินหรือวัดความดันในกะโหลกศีรษะนั้น มีขั้นตอนที่ซับซ้อนจึงจำเป็นต้องทำโดยประสาทศัลยแพทย์เท่านั้น ปกติแล้วความดันในกะโหลกศีรษะของมนุษย์จะอยู่ที่ 10 – 15 เซนติเมตรน้ำ แต่หากมีความผิดปกติ เช่น เกิดการอักเสบ ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทบกระแทก การมีเลือดออกในสมอง การติดเชื้อ หรือการมีเนื้องอกในสมอง ก็ทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มสูงขึ้น


ความดันในกะโหลกศีรษะที่สูงขึ้นเกินกว่า 20 เซนติเมตรน้ำ จะส่งผลทำให้ปวดศีรษะ อาเจียน และอาจส่งผลไปถึงระบบขับถ่าย ทำให้ปัสสาวะลำบาก นอกจากนี้ยังทำให้ระบบประสาทผิดปกติ แขน ขาอ่ออนแรง อาจหมดสติ หยุดหายใจและ เสียชีวิตได้ในที่สุด สำหรับในบางกรณีการไอหรือจาม ก็สามารถทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มสูงเป็น 50 – 80 เซนติเมตรน้ำได้เช่นกัน แต่เป็นความดันที่เพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่ส่งผล กระทบต่อสมอง ยกเว้นในผู้ที่มีความผิดปกติในสมอง อยู่เดิม ความดันในกะโหลกศีรษะที่เพิ่มขึ้นกระทันหันจากการไอหรือจาม ก็อาจทำให้เกิดปัญหาต่อสมองได้


ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช ประสาทศัลยแพทย์ รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า กะโหลกศีรษะมนุษย์เปรียบเหมือนกล่องใบหนึ่งที่บรรจุของไว้ 3 อย่าง คือ เนื้อสมอง เลือด และน้ำไขสันหลัง โดยแบ่งกันอยู่อย่างสมดุลตามสัดส่วน ทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะนั้นปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการกินพื้นที่เกิดขึ้น เช่น การมีก้อนเลือดเพิ่มขึ้นในกะโหลกศีรษะ หรือการเกิดภาวะสมองบวมจากการอักเสบ การติดเชื้อ หรือการขาดออกซิเจน ก็ทำให้สมองบวมเกิดการกินพื้นที่ในกะโหลกศีรษะ ทำให้เกิดความไม่สมดุลกัน ความดันในกะโหลกศีรษะก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


"อาการบ่งชี้ของผู้ป่วยจะแตกต่างกัน ในรายที่ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นทันทีทันใด ผู้ป่วยจะหมดสติ หายใจผิดปกติหรือหยุดหายใจ ส่วนในรายที่ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จะสังเกตความผิดปกติได้ลำบาก ต้องอาศัยการวินิจฉัยเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางกายอย่างละเอียดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจกล่าวได้ว่าการเพิ่มขึ้นของความดันในกะโหลกศีรษะที่ ผิดปกติแพทย์สามารถใช้การตรวจร่างกายเพื่อประเมินได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือวัด แต่ในการติดตาม ประเมินผลการรักษา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยประสาทศัลยแพทย์ช่วยทำการผ่าตัดและใส่อุปกรณ์เพื่อการวัดความดันในกะโหลกศีรษะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใส่ไว้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อความดันในกะโหลกศีรษะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็สามารถถอดออกได้"


ดังนั้นการรักษาภาวะความดันในกะโหลกศีรษะที่เพิ่มผิดปกติ แพทย์ต้องวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติให้ได้ จึงจะสามารถลดความดันในกะโหลกศีรษะได้ แต่อย่างไรก็ตามการรักษาก็ยังเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีอักเสบบวมของเนื้อสมอง เพราะปัจจุบันทั่วโลกยังไม่มียาที่สามารถลดการอักเสบบวมของสมองได้ การใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะสามารถทำได้ชั่วคราวและในบางสาเหตุของภาวะสมองบวมเท่านั้น

Shares:
QR Code :
QR Code