จี้ ขึ้นภาษียาเส้นสกัดบุหรี่มวนเอง
ห้ามเป็นสินค้าโอทอป
เตรียมร่อนหนังสือถึง “กรณ์-วิทยา” สกัดสิงห์อมควัน ชี้ขึ้นภาษียาเส้นจาก 5 เป็น 10 บาท แนะติดป้ายเตือนภัยบนฉลากให้ ปชช.รู้ทันปรับ พ.ร.บ.ใหม่เพิ่มแหล่งปลอดบุหรี่ ห้ามยาเส้นเป็นสินค้าโอทอป แนะสธ.-สปสช.เพิ่มช่องทางเลิกบุหรี่
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การประชุมนักวิจัยเชิงนโยบายและประเมินผลด้านการควบคุมยาสูบ ซึ่ง ศจย.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น โดยมีนักวิจัยเข้าร่วมกว่า 300 คน เพื่อหาแนวทางการควบคุมบุหรี่มวนเอง เนื่องจากผู้สูบบุหรี่มวนเองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเดือนมีผู้สูบบุหรี่มวนเองสูงถึงร้อยละ 27.6 จึงควรมีข้อเสนอให้กับกระทรวงการคลังดำเนินการดังนี้ 1. จำกัดเขตพื้นที่เพาะปลูกใบยาสูบและตรวจจับเกษตรกรที่
ลักลอบปลูกเกินโควตา 2. เพิ่มภาษียาเส้นแบบซองจาก 5 บาท เป็น 10 บาท รวมทั้งยกเลิก การยกเว้นภาษียาเส้นพันธุ์พื้นเมือง3. แก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาสูบ โดยองค์กรส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติในการบังคับลงโทษ ปรับ และค่าปรับดังกล่าวให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตค้าปลีก ยาสูบทุกประเภท โดยในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ศจย.จะนำข้อเสนอและรายละเอียดทั้งหมดยื่นให้กับ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว. คลัง
ดร.ศิริวรรณ กล่าวต่อว่าที่ประชุมยังเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการคือ 1. ประเมินผลการปฏิบัติตามประกาศกระทรวง เรื่องการติดป้ายคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ และเร่งรัดให้ปฏิบัติตามให้ได้ 100% 2. ให้แก้กฎหมาย พ.ร.บ.การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่โดยเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตรวจจับ และปรับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ซึ่งค่าปรับดังกล่าวให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 3. ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มสถานที่ปลอดบุหรี่ โดยข้อเสนอดังกล่าวจะยื่นให้กับนายวิทยา แก้วภราดัย รมว. สาธารณสุขพิจารณาในวันที่ 25 พ.ย. เช่นเดียวกัน
“การเพิ่มราคายาเส้นแบบซอง จาก5 บาท เป็น 10 บาท จะทำให้ผู้สูบ 5.12 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ละ33 บาท เป็น 66 บาท ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดจำนวนผู้สูบทั้งรายเก่าและรายใหม่ได้ ที่สำคัญเมื่อมีผู้สูบลดลงกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจต้องเตรียมรองรับ ในการเพิ่มบริการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ในระดับตำบล มีคลินิกอดบุหรี่ในโรงพยาบาล พร้อมทั้งสำรองยาช่วยเลิกบุหรี่ และบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 นอกจากนี้ ควรเพิ่มมาตรการในชุมชนโดยการออกรณรงค์ให้รู้ถึงพิษภัยยาเส้น ลงโทษผู้สูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบและไม่สนับสนุนบุหรี่มวนเองเป็นสินค้าotop” ดร.ศิริวรรณกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์astvผู้จัดการรายวัน
update: 09-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย