จิตแพทย์แนะรับมือลดเครียดการรับข่าวสาร

จิตแพทย์แนะวิธีรับมือการรับข่าวสาร ลดภาวะเครียดจากข่าว ชี้การรักษาความเข้มแข็งในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญต่อการปรับตัวบุคคลในระยะยาว พร้อมระบุ “Social Media” สร้างความเครียดในสังคมเพิ่มขึ้น แนะให้ใช้อย่างระมัดระวัง



นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงวิธีการป้องกันการรับข้อมูลข่าวสารที่อาจเกิดความเครียดทั้งเรื่องสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาและราคาสินค้าแพงในขณะนี้ว่า การรับข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความเครียดมากๆ มี 2 ลักษณะ คือ ข้อมูลข่าวสารที่เข้ามากดดันต่อชีวิต เช่น สินค้าราคาแพง และข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดการเร้าอารมณ์มากๆ เช่น ปัญหาเรื่องสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ดังนั้นหลักการที่จะช่วยทำให้เราสามารถรับข้อมูลข่าวสารคือการบริหารจัดการเวลาการรับข่าวสาร บางรายรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากเกินไปวันละหลายชั่วโมง เมื่อจัดการเวลาไม่ดี ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพที่ไม่สมดุล รวมทั้งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว จะส่งผลให้เกิดอารมณ์ความเครียดสูง จึงควรเลือกรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะเปิดกว้าง มีการแสดงทัศนะที่หลากหลาย เช่น การรับชมทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ เป็นต้น , การปรับเปลี่ยนแนวคิด โดยมองในด้านบวก เช่น สินค้าราคาแพง ก็ควรมองใหม่ให้เป็นการช่วยทำให้เราเกิดความประหยัด หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่าสังคมจะต้องหาทางออกไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย เกิดการหาทางออกกันมากขึ้นไม่ใช่ไปตามกระแสอย่างใดอย่างหนึ่ง และที่สำคัญคือการระมัดระวังเรื่องการแสดงออกทางความเห็นผ่านสื่อ Social Media เพราะถือเป็นสื่อหนึ่งที่ไม่เปิดเผยผู้แสดงความคิดเห็น จึงส่งผลให้เกิดการแสดงออกทางความเห็นที่รุนแรง จึงส่งผลให้เกิดความเครียดร่วมกันได้ ดังนั้นควรจะใช้อย่างมีสติ


สำหรับการดูแลสุขภาพจิตของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้น นายแพทย์ยงยุทธ กล่าวว่า โดยปกติแล้วผู้ที่อยู่ในภาวะภัยพิบัติ จะต้องกระตือรือร้นต่อการปรับตัว และเกิดการรู้จักที่จะป้องกันตนเอง เช่น การขอความช่วยเหลือจากทางหน่วยงานราชการ การอพยพครอบครัว ขณะเดียวกันหากมีการเกิดการตื่นตัวมากเกินไปขั้นนอนไม่หลับ ไม่สามารถควบคุมสมดุลภายในจิตใจของตนเองได้ เกิดความวิตกกังวลเกินเหตุ อยู่ในภาวะสิ้นหวัง ซึ่งถือเป็นภาวะที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์โดยเร่งด่วน อย่างไรก็ตามการปรับตัวที่ดีที่สุดนั้น ไม่ใช่การปรับตัวของบุคคล แต่ชุมชนจะต้องร่วมมือปรับตัวด้วย โดยการพยายามรักษาความเข้มแข็งของชุมชน ผู้นำชุมชนและความมั่นคงภายในชุมชน


“หัวใจสำคัญที่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนจะต้องใส่ใจคือเรื่องการปรับตัว ซึ่งพบว่าการปรับตัวที่ดีที่สุดไม่ใช่การปรับตัวของบุคคล แต่เป็นการปรับตัวของชุมชน เช่น เวลาอพยพก็ต้องอพยพไปทั้งชุมชน เราต้องพยายามรักษาความเข้มแข็งของชุมชนไว้ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครและความมั่นคงภายในชุมชนต้องรักษาไว้ เพราะอย่างบางแห่งพออพยพมาก็จะอาศัยพลังจากภายนอกเข้าไปช่วยเหลือ โดยลืมพลังความเข้มแข็งของชุมชนให้เป็นประโยชน์ ซึ่งภาวะเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดการปรับตัวของบุคคลเสียในระยะยาว” นายแพทย์ยงยุทธกล่าว


 


 


เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ