จิตแพทย์ชี้ปัญหาฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้ทุกวัย
แนะสังคมไทยไม่ควรนิ่งเฉย!!!
จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุ ปัญหาการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่กลุ่มเสี่ยงมากที่สุดคือ เยาวชน วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียน ทุกคนในสังคมไม่ควรนิ่งดูดาย ต้องช่วยกันมีส่วนร่วมแก้ไข จะลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้
ในงานประชุมคณะกรรมการรักลูก เบรนฟอรั่ม ครั้งที่ 2/2551 หัวข้อ “ปัญหาโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในประเทศไทย” จัดโดย บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด ร่วมกับ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย รศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี ได้กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฆ่าตัวตาย ในมุมมองของจิตแพทย์ แบ่งการฆ่าตัวตายออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 ความคิดฆ่าตัวตาย คิดอยากตาย หรือคิดถึงเรื่องอยากตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีไม่น้อยในสังคม แต่ไม่ถือว่ามีความผิดปกติหรือถึงขั้นต้องช่วยเหลือ แต่มีบางกรณีเท่านั้นที่การคิดฆ่าตัวตายต้องให้ความช่วยเหลือ หรือต้องให้ความสำคัญ ลักษณะที่ 2 คือ การพยายามฆ่าตัวตาย และลักษณะที่ 3 คือ การฆ่าตัวตายสำเร็จ ซึ่งทั้ง 2 ลักษณะนี้ต่างกันเล็กน้อย
“การฆ่าตัวตายนั้นมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ฆ่าตัวตายเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด หรือได้รับข่าวการฆ่าตัวตาย จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่จะมีความคิดฆ่าตัวตายสำหรับชีวิตประจำวันของเขา ความกดดันที่รุนแรง ความเครียด ความไม่มั่นคงในชีวิตคู่ ครอบครัวที่ไม่ราบเรียบ การนำเสนอการฆ่าตัวตายของผู้มีชื่อเสียงในสังคมของสื่อมวลชน ส่วนการฆ่าตัวตายในเพศชายจะเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงจากภายใน ขณะที่เพศหญิงเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงจากภายนอก”
ด้าน นพ.ปราการ ถมยางกูร โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ได้กล่าวเสริมว่า คนที่ตายด้วยการฆ่าตัวตายจะไม่เหมือนกับคนที่ไปขับรถชนจากอุบัติเหตุ เพราะคนที่อยู่เบื้องหลังจะรู้สึกผิดไปด้วยว่าตนมีส่วนทำให้เขาเสียชีวิต หลัง จากนี้คนที่ทุกข์ทรมานใจก็ยังต้องอยู่ในสังคม แต่บางคนในช่วงแรกก็พยายามที่จะฆ่าตัวตายตาม
สิ่งสำคัญก็คือ ในคนที่มีญาติฆ่าตัวตาย เราก็ยิ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือ สำหรับการคัดกรองไม่สามารถบอกได้ว่าคนนี้อนาคตจะเป็นอย่างไร เพียงแต่ว่าบางรายที่เป็นโรคซึมเศร้ามากๆ เราก็สามารถที่จะดูแลป้องกันได้ จากการวิจัยได้ข้อสรุปออกมาแล้วว่าแม้เราจะป้องกันให้ดีที่สุด ก็ยังไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุดที่ไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย เพียงแต่เราสามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้”
นพ.อุดม เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูก ฮิวแมนด์ แอนด์ โซเชียล อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชน อีกสาเหตุหนึ่งคือการตั้งความคาดหวัง ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นเพราะว่าความสำเร็จในชีวิตของสังคม เรามองไปที่จุดใดจุดหนึ่งว่าในความสำเร็จจะต้องเก่ง มีหน้าที่การงาน มีความร่ำรวย เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องนี้ ทำให้คนเรามีเป้าหมายในชีวิตที่เปลี่ยนไป
พอ.พญ.นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ประธานฝ่ายวิชาการราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ทิ้งท้ายว่า วัยรุ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงในทุกๆ ด้าน มีความเปราะบาง เราจะต้องมองว่าเขาเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะรับทั้งบวกและลบ ปัญหาอยู่ที่เด็กขาดคนที่จะมาช่วยประคองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
“หากมีการประคองไปแล้วจะรู้ว่าเด็กบอกสัญญาณอะไรอยู่ แต่คนที่ควรต้องอ่านสัญญาณได้คนแรกคือ คนในครอบครัว แต่กลับอ่านไม่เป็น พออ่านไม่เป็นก็บอกไม่ถูกว่าลูกเกิดปัญหาอะไร ก็เลยมองว่าเป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรม ซึ่งจริงๆ เด็กต้องการความช่วยเหลือ ต้องการความเข้าใจ”
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
update : 14-08-51