จิตตปัญญา สู่ชีวิตที่ดีงาม
ช่วงที่ผ่านมาหลายสถาบันการศึกษามีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น ล่าสุด ศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มวิชาเกี่ยวกับ “ความตาย” เพื่อศึกษาและทำความรู้จัก “ความตาย” ให้มากขึ้น
ในงานประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาครั้งที่ 7 ภายใต้หัวข้อ “จิตตปัญญา สู่ชีวิตที่ดีงาม” ศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลงานด้านวิชาการและแลกเปลี่ยนเสวนากันอย่างหลากหลาย
หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในงานประชุมวิชาการคือ วงเสวนาว่าด้วยเรื่อง “ลมหายใจสุดท้าย สู่ชีวิตที่งดงาม” ซึ่งมีการแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความตายของคนใกล้ตัว รวมถึงการรับมือในรูปแบบต่างๆ มีนักวิชาการด้านปรัญชาและศาสนามาให้ความรู้เกี่ยวกับความตาย
ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร รองผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวโดยกล่าวว่า การศึกษาเรื่องความตายมีความสำคัญมาก เพราะความตายเป็นสภาวะที่ทุกคนต้องเผชิญในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ คนในสังคมมีองค์ความรู้เกี่ยวกับความตายน้อยมาก
"อย่างตอนนี้ในการศึกษามีเรียนเรื่องสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ที่ทำให้เราดำเนินชีวิตในโลกได้อย่างดี อย่างมีคุณภาพ แต่พอถึงช่วงเวลาสำคัญอันหนึ่งของชีวิตคือช่วงเวลาสุดท้าย เรากลับไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลย" ดร.จิรัฐกาล กล่าว
ด้าน ดร. สมสิทธิ์ อัสดรนิธี ประธานหลักสูตรจิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการจิตตปัญญาเป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท ซึ่งเปิดมาแล้วกว่า 7 ปี โดยรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรีในสาขาใดก็ได้ ล่าสุด ศูนย์ได้เพิ่มวิชา “แนวคิดของชีวิตและความตาย” เข้ามา เพื่อเสริมและเติมเต็มองค์ความรู้ให้รอบด้านมากขึ้น
"มันมาจากที่หลายครั้งเราไปโรงพยาบาลก็ตาม หรือแพทย์ พยาบาลที่ทำงานกับผู้ป่วยที่มีความยากลำบาก บางทีผู้ป่วยร่างกายยังดีอยู่นะ แต่จิตใจหดหู่ หรือคนที่กำลังจะถึงวาระสุดท้ายเราจะดูแลเขาอย่างไร เพราะร่างกายจริงๆไม่ต้องดูแลมากแล้วแต่สิ่งสำคัญคือภายในจิตใจหรือจิตวิญญาณของเขาซึ่งความรู้หรือทักษะตรงนี้อาจน้อยอยู่ในสังคมบ้านเรา" ดร. สมสิทธิ์ กล่าว
นอกจากโครงการของศูนย์จิตตปัญญา ในปัจจุบันยังมีอีกหลายหน่วยงานที่จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องความตาย อาทิ โครงการเผชิญหน้าความตาย อย่างสงบ หรือกิจกรรมเค้าดาวน์ชีวิตของเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งผู้ที่สนใจก็สามารถเข้าร่วมได้ แต่ถึงที่สุดแล้ว การมีชีวิตและพร้อมรับมือกับทุกๆสถานการณ์อย่างมีสติ น่าจะเป็นแนวทางที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน
ที่มา: มติชนออนไลน์