จาก’กองขยะ’ สู่ ‘พื้นที่สุขภาวะ’ หลัง ม.สยาม
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
ด้วยแรงผลักดันของกรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยสยาม ประกอบกับความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่เขตภาษีเจริญได้เปลี่ยน "ขยะกองโต" ที่มีระดับความสูงเกือบเท่าบ้านคนให้เป็นพื้นที่สุขภาวะของชุมชน เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการพบปะสังสรรค์ ออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวม โดยได้จัดพิธีเปิด "สวนสุขภาวะ และห้องสมุดกำแพง" ณ สวนพื้นที่ สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ หลัง ม.สยาม รุ่งฟ้า 36 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
ในพิธีเปิด "สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสยาม" ถูกตกแต่งอย่างสวยงาม มีชาวบ้านในชุมชนตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่แต่งกายในชุดไทย ไปจนถึงกลุ่มนักปั่นจักรยานที่มาใช้พื้นที่สวนสุขภาวะแห่งนี้เป็นจุดนัดหมาย เดินทางมาเข้าร่วมอย่างคับคั่ง บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความสนุกสนานจนลืมไปเลยว่าก่อนหน้านี้พื้นที่ตรงนี้เคยเป็น "กองขยะ"
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่ชุมชนหลัง ม.สยาม เป็นพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนอยู่บ่อยครั้งในเรื่องความปลอดภัยที่กลายเป็นสถานที่มั่วสุมตอนกลางคืน ประกอบกับมีทัศนียภาพและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้ถนนสายนี้ที่ตัดผ่านในหมู่บ้านไม่ค่อยมีคนอยากสัญจรนัก เพราะรู้สึกกลัว จุดนี้สอดคล้องกับนโยบายของทาง กทม. ที่กำหนดให้เปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมเป็น "พื้นที่ชุมชนสามัคคี สร้างสุขภาวะดีเพื่อชีวิต"
ขณะที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิต สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ด้วย สสส.มีความตั้งใจที่จะจัดการให้เกิดพื้นที่สุขภาวะต้นแบบใน 9 รูปแบบการจัดการ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ พื้นที่ชุมชนหรือย่านเมืองที่สามารถ "พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ได้" และพื้นที่ชุมชนหลัง ม.สยามก็ได้รับเลือก และถูกพัฒนาจนกลายเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะฯที่มีความพิเศษคือ มี "ห้องสมุดกำแพงแห่งแรกในประเทศไทย" เป็นแหล่งข้อมูลสุขภาพบนกำแพง และมีหนังสือหลากหลายประเภทให้คนในชุมชนได้ยืมไปอ่านด้วย
ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี ม.สยาม เผยว่า ม.สยามได้ฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาในเขตภาษีเจริญ นอกจากจะทำงานร่วมกับเขตภาษีเจริญเพื่อพัฒนาพื้นที่สุขภาวะในชุมชนรอบข้างมาโดยตลอดแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่หลังบ้านของตนเองให้ดีขึ้นด้วย จึงไม่ลังเลที่จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาสวนพื้นที่สุขภาวะฯแห่งนี้
"โดยทาง ม.สยามได้กำหนดนโยบายว่า นักศึกษาต้องเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ เป็นห้องทดลองเสมือนจริง ที่นักศึกษาสามารถเรียนรู้ศาสตร์จากสังคมภายนอกห้องเรียนและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ฉะนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ดีให้ชุมชน แต่ทางมหาวิทยาลัยยังได้รับประสบการณ์และ สิ่งดีๆ จากชุมชนกลับคืนมาอีกด้วย" ดร.พรชัย กล่าว
ส่วนนายสัณห์ฉัตร ศรีอรุณสว่าง เจ้าของบ้านติดกับพื้นที่สุขภาวะฯ กล่าวว่า แต่ก่อนพื้นที่ตรงนี้ในสมัยที่ตนยังเป็นเด็กเป็นพื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ ซึ่งต่อมาเมื่อกลายเป็นพื้นที่เมือง สวนจึงหายไป กลายเป็น กองขยะ ที่ทำให้ตนต้องกังวลใจอยู่ตลอดเวลาในเรื่องความปลอดภัย ทั้งจากอุบัติภัยหรือภัยร้ายจากคน
"เคยมีครั้งหนึ่งที่กองขยะติดไฟแล้วเริ่มลุกลาม แต่โชคดีที่วันนั้นผมอยู่บ้านและสังเกตเห็นก่อนจึงรีบฉีดน้ำเข้าไปดับไฟได้ทัน ไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าจะต้องเกิดความสูญเสียเท่าไหร่ ยังไม่นับเรื่องกลิ่นขยะและความรกร้างที่ทำให้กังวลเรื่องงูเงี้ยวเขี้ยวขออยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้ความกังวลใจได้หายไปแล้ว ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกัน" เจ้าของบ้านกล่าว
อย่างไรก็ตาม สวนสุขภาวะฯแห่งนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดแม่งานอย่าง ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน ม.สยาม ที่เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มว่า ตอนที่ได้รับโจทย์จาก สสส.ว่าให้ช่วยปรับเปลี่ยนและพัฒนาพื้นที่รกร้างตรงนี้ให้เกิดประโยชน์
ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนสารภาพด้วยรอยยิ้มว่า "ตอนนั้นคิดว่าเป็นไปไม่ได้" ด้วยเหตุผลที่ว่า ตนคุ้นชินกับการลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านในต่างจังหวัด ซึ่งให้ความร่วมมือดีกว่าคนในเมือง แต่ในพื้นที่เขตในเมืองนั้น ผู้คนต่างใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ดังนั้น พื้นที่ส่วนรวมและกิจกรรมที่ทำร่วมกันมีน้อยมาก จึงทำให้ค่อนข้างกังวล
"ฉะนั้น กลยุทธ์ที่วางไว้คือ การทำให้คนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ ก่อเกิดเป็นความหวงแหนและอยากดูแลรักษา ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการพัฒนาจากกองขยะสู่สวนพื้นที่สุขภาวะฯที่พร้อมใช้งานจริง ล่วงเลยมาถึง 4-5 ปี"
และในวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่า "สามารถทำได้จริง" ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการพัฒนา ตั้งแต่การปรับพื้นที่ที่ได้รับความร่วมมือจากเขตภาษีเจริญช่วยขนขยะออกไป จากนั้นชาวบ้านก็มาช่วยกันลงแรงปรับพื้นที่ให้เป็นที่โล่งกว้าง จัดทำเก้าอี้นั่ง ปูพื้น ไปจนถึงการถางหญ้า และคอยตรวจตราดูแลรักษาความสะอาด จนกลายเป็นพื้นที่สร้างเสริมสุขภาวะที่น่าภาคภูมิใจในวันนี้" ผศ.ดร.กุลธิดากล่าว
เพราะฉะนั้น คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า "สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสยาม" แห่งนี้ ได้เปลี่ยนจากพื้นที่รกร้าง "ใช้งานไม่ได้" เป็นพื้นที่สุขภาวะเพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในชุมชน จากการร่วมแรงร่วมใจของหลายๆ ฝ่าย
หากเริ่มต้นด้วย "แรงเดียว" อาจจะไม่สำเร็จ แต่เพราะมี "หลายแรง" ร่วมใจ จึงเกิดเป็นผลลัพธ์ที่งดงาม