จัดเรตรายการเยี่ยม-แย่ แก้ “สื่อสีเทา” เป็นวัคซีนป้องกันเด็ก

กระตุ้นผู้ผลิตตระหนักถึงผลกระทบต่อเยาวชนจากสื่อไม่เหมาะสม

 

 จัดเรตรายการเยี่ยม-แย่ แก้ “สื่อสีเทา” เป็นวัคซีนป้องกันเด็ก

          ศูนย์ประสานงานครอบครัวเฝ้าระวังสื่อฯ เล็งจัดอันดับรายการยอดเยี่ยม – ยอดแย่ รุกสร้างสื่อสีขาว  แนะพ่อแม่ปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีเป็นวัคซีนป้องกันลูกจากสื่อร้าย จิตแพทย์ชี้เด็กดูทีวีเกินวันละ 2 ชม. เสียสายตา สมาธิสั้น แถมพัฒนาภาษาช้า

 

          นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อเยาวชน จากการเสพสื่อที่ไม่เหมาะสมทุกประเภท ซึ่งเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนบ่อยคือ การ์ตูนโป๊

เว็บไซต์ลามก ฉากรุนแรงในภาพยนตร์ และโฆษณาละเมิดสิทธิสตรี ศูนย์ฯ จะส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

 

          แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ในอนาคตศูนย์ฯ จะจัดอันดับรายการยอดเยี่ยมและยอดแย่ เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ผลิตสื่อสีขาวสู่สังคม และให้ผู้ผลิตสื่อสีเทาหรือสีดำปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้ดีขึ้น 

 

          ปัจจุบันมีครอบครัวอาสาเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อจำนวน 15 ครอบครัว และศูนย์ฯ ต้องการครอบครัวอาสาฯ เพิ่ม หากพบเห็นสื่อไม่เหมาะสม แจ้งศูนย์ฯ ได้ที่ โทร. 0-2888-2260 หรืออีเมล์ familymediawatch49@gmail.com

 

          นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า

ผู้ปกครองบางคนกลัวว่าลูกออกไปเล่นนอกบ้านแล้วจะได้รับอันตราย จึงให้ลูกเล่นเกม หรือดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน  ซึ่งการที่เด็กอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 2 ชั่วโมง จะเกิดผลเสียคือ เสียสายตา สมาธิสั้น พัฒนาการทางด้านภาษาและความคิดแย่ลง หากพ่อแม่ลูกทำกิจกรรมร่วมกันจะดีกว่า อาจจะทำงานบ้านหรือเล่นกีฬาก็ได้ ให้เด็กออกไปเล่นกับเพื่อนๆ บ้าง เด็กจะได้พัฒนาทักษะในทุกๆ ด้าน และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวและสังคม

 

          ด้านนายสมชาย เสียงหลาย รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะประธานดูแลโครงสร้างวัฒนธรรมอำเภอ กล่าวว่า จากการที่มีกลุ่มนักวิชาการวัฒนธรรมอำเภอ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม เพื่อให้ช่วยผลักดันให้มีกฎหมายรองรับตำแหน่งวัฒนธรรมอำเภอนั้น ขณะนี้ วธ. กำลังจัดทำข้อมูลเสนอ รมว.วัฒนธรรม กำหนดโครงสร้างของวัฒนธรรมอำเภอ  กระทรวงจะต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อให้มีน้ำหนักพอที่จะขอจัดตั้งวัฒนธรรมอำเภอ ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)

 

          เพราะหาก กพร. ไม่เห็นความชัดเจนของงาน  รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ อาทิ การดูแลปัญหาเรื่องร้านเกมในท้องถิ่น การประสานงานโครงการต่างๆ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็อาจจะไม่เห็นชอบให้มีการจัดตั้งตำแหน่งดังกล่าว

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

update 24-02-52

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ