งานเพื่อสังคม ความสุขที่ต้องลงมือ
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น (APCS) หนึ่งในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ได้บอกกับตัวเองเอาไว้ว่า ความสุขมันมีขั้นบันไดในช่วงชีวิตที่ต่างกัน
บทบาทประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ตัวกลางที่ทำให้ความต้องการของทั้งผู้พิการมีโอกาสทำงานในชุมชนใกล้บ้านกับหน่วยงานต่างๆ และสถานประกอบการก็ได้ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกำหนดให้สถานประกอบการที่มีจำนวนพนักงาน 100 คน ต้องจ้างงานผู้พิการ 1 คน มาเจอกันด้วยนวัตกรรมการสร้างเครือข่าย
จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่ร่วมทำงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการแฮปปี้ เวิร์กเพลส มากว่า 10 ปี ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี แล้วต้องการขยายผลต่อให้เอกชนหรือ ภาคธุรกิจมาช่วยขับเคลื่อนทางสังคม มากขึ้น โดยเอาแนวคิดและวิธีการดำเนินการของภาคธุรกิจมาเกิดขึ้นที่ภาคสังคม เนื่องจากภาคธุรกิจจะมีวิธีการทำงานเชิงรุกและไร้ขอบเขตที่จำกัดในการทำงาน จนทำให้เกิดมูลนิธินี้ขึ้น
จากตัวเลือกที่ต้องการขับเคลื่อนด้านเด็ก คนชรา และคนพิการ และสรุปมาเน้นกลุ่มคนพิการ เพราะเป็นปัญหาที่เห็นอยู่ในภาคอุตสาหกรรมในโรงงานทั้ง 500 แห่ง พบว่ามีปัญหาที่ต้องการจ้างคนพิการตามโควตาแต่ไม่เคยได้ครบตามจำนวน จึงเริ่มลงมือสำรวจและพบว่าภาคธุรกิจต้องการจ้างคนพิการ 5.5 หมื่นคน แต่กลับสามารถจ้างได้เพียง 3.5 หมื่นคน ใครไม่สามารถจ้างได้ก็ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทน 109,500 บาท/คน และเฉลี่ยต่อปีมีเงินเข้ากองทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาท
จำนวนที่ต้องการจ้างอีก 2 หมื่นคนอยู่ไหน เพราะในระบบมีคนพิการที่ลงทะเบียนทั้งหมด 1.7 ล้านคน และ เป็นคนวัยทำงานสูงถึง 7 แสนคน โดย 4 แสนคนที่ต้องการทำงานแต่ไม่มีงาน ที่สามารถทำได้ ซึ่งในระบบที่ขาดกว่า 2 หมื่นคนที่ภาคธุรกิจต้องการทำไมทั้งสองฝ่ายไม่สามารถมาเจอกันได้ ยิ่งพบข้อมูลว่า เกือบ 90% ของคนพิการอาศัยอยู่ชนบทที่ไม่ใช่แหล่งงาน เพราะแหล่งงานอยู่ในเมือง และมีวุฒิการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า สวนทางกับสถานประกอบการที่เรื่องวุฒิการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ต้องเข้าใจคนพิการด้วยว่าจะเข้ามาทำงานในเมืองก็คงไม่สะดวก เพราะจะทำให้เขามีต้นทุนการมีชีวิตที่สูงขึ้น อีกทั้งสภาพแวดล้อมการเดินทางหรือใช้ชีวิตในเมืองก็ไม่ได้เอื้ออำนวยความสะดวกได้อย่างนั้น
คำตอบที่ได้คือ ถ้ามีแหล่งงานใกล้ที่เขาพักอาศัยและเอื้อต่อการใช้ชีวิตก็พร้อมจะทำงาน และเบื้องต้นการทำโครงการนี้ก็ได้จากผู้ที่ต้องการหางาน 20 คน แต่ทำงานได้เพียง 10 คนเท่านั้น จากนั้นมาตีความงานใกล้บ้าน เช่น งานสาธารณประโยชน์ที่ปกติอยู่ใกล้บ้านมีเยอะ อาสาสมัครช่วยงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และหนทางที่พอเป็นไปได้คือ ลุยไปหารือถึงบริษัทซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเลย เพราะเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนอยู่แล้ว งบประมาณไม่ได้เพิ่ม เพราะจากที่เคยส่งเข้ากองทุนก็เป็นการให้กับผู้พิการโดยตรง
จนกระทั่งปี 2557 เริ่มทำ 20 บริษัทนำร่องแรกและนำไปสู่การจ้างงานคนพิการ 229 คน การจ้างงานสำเร็จเกิดวันที่ 1 ม.ค. 2558 เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงต่างเป็นคนตัดสินใจ จึงทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี ปีถัดมา 2559 บริษัทที่ร่วมโครงการเพิ่มเป็น 88 แห่ง จ้างคนพิการเพิ่มเป็น 1,277 คน
สิ่งที่อยากให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงคือ เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องหลายมาตราใน พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะการจ้างงานคือมาตรา 33 ส่วนมาตรา 34 ถ้าจ้างงานไม่ได้ก็ต้องส่งเงินเข้ากองทุน แต่คนมักไม่รู้ว่ามีมาตรา 35 ที่กฎหมายระบุว่าถ้าจ้างงานไม่ครบ ส่งกองทุนก็ไม่ชอบ ก็สามารถทำการส่งเสริมอาชีพอื่นได้ โดยไม่ไปชวนเขาทำอาชีพ แต่เอาสิ่งที่เขาทำเป็น ทำได้และสามารถเลี้ยงปากท้องให้ทำและเป็นไปตามบริบทของคนพิการ การทำอย่างนี้เป็นการมองมุมกลับที่เอาโจทย์ของคนพิการเป็นตัวตั้งหรือสนับสนุนงบประมาณ
ส่วนรูปแบบการจ้างเป็นไปตามบริษัทจะเลือกในลักษณะมาตราไหน โดยมูลนิธิจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อไปยังคนพิการและหน่วยงานที่มีเครือข่ายคนพิการในพื้นที่ เพราะมูลนิธิทำงานกับเครือข่ายต่างๆ
ปีที่ 3 นี้ได้รับความร่วมมือจากภาคีเศรษฐกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งภาคเหล่านี้ครอบคลุมและเข้าถึงคนไทยแล้วกว่า 80% ของประเทศ และคาดหวังว่าปี 2560 จะทำให้มีบริษัทเข้าร่วม 600 แห่ง และเกิดการจ้างคนพิการเพิ่มเป็น 1 หมื่นอัตรา
อภิชาติเป็นคนที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมมาตั้งแต่สมัยเรียนคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กลับมาทำงานสายธนาคารและเป็น ผู้บริหารบริษัทเอกชนนี้ โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในองค์กร
"วันแรกไม่ได้มีภาพนี้ของวันนี้อยู่เลย เพราะแต่ละขั้นจะพาเราไป ถ้ามันไม่เหมาะสม และปัญหามันสุกงอม เดี๋ยวความลงตัวต่างๆ จะค่อยๆ ประกอบออกมา แต่ต้องมีใครสักกลุ่มที่เริ่มไปเชื่อม และไม่จำนนต่อข้อจำกัดของมัน อย่าให้คำว่าไม่พร้อมมาเป็นตัวฉุดรั้งเรา เพราะถ้าพร้อมมันก็เสร็จไปแล้วไม่มาถึงเรา"
เมื่อช่วงชีวิตหนึ่งการทำธุรกิจถือว่ามีความสำคัญกับชีวิต แต่จุดหนึ่งเมื่อเราบริหารชีวิตตัวเองได้ดีแล้วเชื่อว่าทุกคนสามารถให้ความสำคัญหรือนำเรื่องภาคสังคมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้ ที่สำคัญปัญหานี้มันเคยอยู่ตรงหน้า แค่แก้ไขให้เป็นไปตามกลไก สิ่งที่ได้กลับมาคือหลายคนมีชีวิตที่ดีขึ้นและกลายเป็นความสุขทางใจที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งไม่ได้เกิดจากเงินที่มั่งคั่งหรือความสุขที่ซื้อมา แต่เป็นความสุขที่ต้องลงมือทำเอง