งานสังคมสุขใจปีที่6 ปลุกคนไทยช้อปเปลี่ยนโลก
ที่มา : ไทยโพสส์
แฟ้มภาพ
"งานสังคมสุขใจ" งานเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายสามพรานโมเดลและจากทั่วประเทศ มุ่งให้เกษตรกรหยุดใช้สารเคมี หันมาทำเกษตรอินทรีย์ และมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง "เพราะวิถีสังคมอินทรีย์ไม่ได้อยู่แค่เรื่องการกิน แต่เป็นเรื่องวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ"
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา ประธานในพิธีเปิดงานสังคมสุขใจครั้งที่ 6 กล่าวว่า เสน่ห์ของงานสังคมสุขใจที่ได้เห็นจากการมาร่วมงานทุกปีคือ บรรยากาศความร่วมมืออย่างกระฉับกระเฉงของทุกภาคส่วน เดินไปทางไหนก็มีแต่รอยยิ้ม และที่น่าประทับใจมากในปีนี้คือ ความก้าวหน้าอีกขั้นของการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล และการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ ที่นอกจากจะมีจำนวนเกษตรกรอินทรีย์ผ่านการรับรองอย่างมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการขยายเครือข่ายไปในภาคอื่นๆ เพิ่มแล้ว ยังจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงและยกระดับความร่วมมือของคนทั้งห่วงโซ่
นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ประธานจัดงานสังคมสุขใจครั้งที่ 6 และ ผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล หรือโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบบอาหารที่ยังคงมีความไม่สมดุล โจทย์ของการขับเคลื่อนสามพรานโมเดลในปีที่ 9 และปีต่อไปที่มุ่งให้เกษตรกรหยุดใช้สารเคมี หันมาทำเกษตรอินทรีย์ และมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถยกระดับคนทั้งห่วงโซ่ โดยเฉพาะผู้บริโภค ให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ให้มากขึ้น งานสังคมสุขใจครั้งที่ 6 ปีนี้จึงเน้นการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ซึ่งมีเครื่องมือสำคัญที่จะเริ่มใช้ในงานนี้เป็นครั้งแรกคือ แอปพลิเคชัน "ไทย ออร์แกนิก แพลตฟอร์ม" ที่จะเชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งผลิตอาหารอินทรีย์ ราคาเป็นธรรมและมีช่องทางเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน "เพราะวิถีสังคมอินทรีย์ไม่ได้อยู่แค่เรื่องการกิน แต่มันเป็นเรื่องวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ ผมอยากให้ทุกคนได้มาช้อปแรงบันดาลใจ แล้วกลับไปเปลี่ยนแปลงให้ทุกอย่างดีขึ้นทั้งตัวเรา สังคมและสิ่งแวดล้อม" นายอรุษกล่าวถึงแนวคิดช้อปเปลี่ยนโลกของงานสังคมสุขใจปีนี้
คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า งานสังคมสุขใจ เป็นอีกความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนงานด้านการท่องเที่ยวและการสร้างสังคมอินทรีย์ที่ตอบโจทย์ความต้องการในทุกมิติ ซึ่งหัวใจของความสำเร็จคือ ความต่อเนื่อง จึงน่ายินดีอย่างยิ่งที่การจัดงานในครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย และควบคู่กับการท่องเที่ยวการช้อปเปลี่ยนโลก ขอให้ผู้ร่วมงานได้ปลูกจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อโลกของพวกเราไปพร้อมๆ กัน ด้วยการพกถุงผ้า ตะกร้า กล่อง เพื่อลดการใช้ถุงหิ้วพลาสติก หันมารีไซเคิล เน้นใช้ของที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
คุณอรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) กล่าวว่า งานดังกล่าวเป็นอีกโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร การประชุมที่ต้องใช้วัตถุดิบอยู่แล้ว จะได้มาเจอกับเกษตรกร เกิดการเชื่อมโยง ซึ่ง สสปน.ยินดีแชร์ประสบการณ์ โครงการ Farm to Functions ที่ได้ทำร่วมกับสามพรานโมเดล และพันธมิตรธุรกิจ MICE ส่งผลทำให้โรงแรมและร้านอาหารชั้นนำในกรุงเทพฯ หันมาซื้อข้าวจากเกษตรกรอินทรีย์ เกิดเป็นคุณค่าที่ยั่งยืน สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและเกษตรกรอินทรีย์
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) กล่าวว่า กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม ขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีครบ 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม โดยหนึ่งในภารกิจที่กำลังขับเคลื่อนคือ การสร้างพื้นที่สุขภาวะด้านอาหาร ซึ่งสามพรานโมเดลถือเป็นตัวอย่างที่ สสส.สนับสนุนเพราะตอบโจทย์สุขภาวะในทุกมิติ มีการส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำให้ผู้บริโภคตื่นรู้ ตระหนัก สนใจเรียนรู้ และมีความเข้าใจระบบอาหารยั่งยืน อันสามารถขยายผลไปยังภูมิสังคมอื่นๆได้