งานวิจัยชี้ครัวเรือนใหม่เพิ่ม

เผยงานวิจัยครอบครัวและครัวเรือนไทย พบแนวโน้มคนไทยหันมาแต่งงานเมื่อมีอายุสูงขึ้น ขณะที่ส่วนหนึ่งเลือกที่จะครองโสดไปตลอดชีวิต ขนาดครอบครัวเล็กลง หย่าร้างสูงขึ้น ครัวเรือนที่มีแต่ผู้สูงอายุกับเด็กเพิ่มขึ้นรวดเร็ว

รศ.ดร.ชาย โพธิสิตา นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยงานวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงครอบครัวและครัวเรือนไทยที่เราไม่รู้ ภายในงานประชุมวิชาการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ว่า คนไทยมีแนวโน้มที่จะเริ่มชีวิตครอบครัวหรือแต่งงานเมื่ออายุสูงขึ้น มีคนเลือกที่จะครองโสดมากขึ้น ครอบครัวเล็กลง ขณะที่ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่มีความเปราะบางมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทำให้สถิติการหย่าร้างสูงขึ้น รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือนอย่างเห็นได้ชัด คือ ครัวเรือนเดี่ยวลดลงจากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 53 ขณะที่ครัวเรือนขยายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 36 และมีครัวเรือนรูปแบบใหม่เกิดขึ้น คือ ครัวเรือนพิเศษที่มีสมาชิกเพียงคนเดียว ครัวเรือนที่มีแต่ผู้สูงอายุกับเด็ก และครัวเรือนที่ไม่ใช่ญาติกัน ในปัจจุบันมีครัวเรือนรูปแบบใหม่นี้คิดเป็นร้อยละ 12 โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนมีแต่ผู้สูงอายุกับเด็ก ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอย่างเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว และจะทวีเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต

รศ.ดร.ชายกล่าวว่า ในทางวิชาการ คำว่าครอบครัวกับครัวเรือนมีความหมายต่างกัน การวิจัยจึงต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านครอบครัว ได้แก่ การแต่งงาน หย่าร้าง และมีบุตร ส่วนด้านครัวเรือน หมายถึง รูปแบบการอยู่อาศัยร่วมกัน การวิจัยด้านครอบครัวพบการเปลี่ยนแปลงของการแต่งงานที่ชัดเจน คือ ชายไทยแต่งงานเมื่อมีอายุเฉลี่ย 27 ปี หญิงไทยแต่งงานเมื่อมีอายุเฉลี่ย 22 ปี จำนวนคนแต่งงานมีแนวโน้มลดลง ชะลอการแต่งงานออกไปเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากสัดส่วนผู้ที่ยังโสดอยู่ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 30-34 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งแนวโน้มนี้เหมือนกันทั้งชายและหญิง ที่น่าสังเกตคือ มีชายและหญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ยังครองโสดอยู่แม้ในวัยที่เลย 40 ปีไปแล้ว ชายหญิงเหล่านี้มีแนวโน้มจะครองโสดไปตลอดชีวิต

รูปแบบการจับคู่อยู่กันเป็นสามีภรรยาเปลี่ยนไป เดิมชายหญิงจะอยู่กินฉันสามีภรรยาได้จะต้องมีการแต่งงานกันตามประเพณีก่อน ส่วนหนึ่งก็จะมีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันเริ่มมีการอยู่กินกันแบบใหม่ คือ อยู่กินกันก่อนแล้วจึงจัดงานแต่งงานทีหลัง หรือไม่ก็อยู่กินกันไปเลย เมื่อเกิดความไม่พอใจที่จะอยู่ด้วยกันก็แยกทางกันไป การอยู่กินในรูปแบบดังกล่าวทำให้ความหมายของการแต่งงานเปลี่ยนไปจากเดิม

รศ.ดร.ชายสรุปว่า ในช่วงเวลาประมาณ 30 ปีมานี้ โครงสร้างครัวเรือนไทยเปลี่ยนไปมาก ครัวเรือนเดี่ยวลดลงจากประมาณร้อยละ 70 เหลือประมาณร้อยละ 53 ขณะที่ครัวเรือนขยายเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 25 เป็นประมาณร้อยละ 36 และมีครัวเรือนรูปแบบใหม่เกิดขึ้น คือ ครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียว ครัวเรือนที่มีแต่ผู้สูงอายุกับเด็ก และครัวเรือนที่สมาชิกไม่ใช่ญาติกัน ในปัจจุบันครัวเรือนเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 12 ของทั้งหมด แต่ที่น่าสนใจคือ มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนที่มีแต่ผู้สูงอายุกับเด็ก และครัวเรือนที่มีแต่ผู้สูงอายุอย่างเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว และเชื่อว่าจะทวีจำนวนมากขึ้นในอนาคต

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code