งดเหล้าเข้าพรรษามหากุศล

ปี 2555 นับเป็นปีมหามงคลยิ่ง เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะโอกาสฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


งดเหล้าเข้าพรรษามหากุศล


การงดเหล้าเข้าพรรษาจึงนับเป็นอีกโอกาสอันดีที่ชาวไทยพุทธจะถือโอกาสปีดี ปีมหามงคลนี้อยู่ในศีลในธรรม


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ได้ริเริ่มจัดโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องมาในปีนี้เป็นปีที่ 10 จึงได้จัดโครงการ 2,600องค์กร 2,600ครอบครัวและ 2,600คนต้นแบบ งดเหล้าเข้าพรรษามหากุศล


ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า การรณรงค์งดเหล้าดำเนินงานมาถึง 10 ปีแล้ว ในช่วงปีแรกที่เริ่มดำเนินงานนับว่าเกิดกระแสตื่นตัวอย่างมาก จากที่ในช่วงนั้นคนไทยลืมงดเหล้าเข้าพรรษาไป ทั้งๆ ที่อดีตนับเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ซึ่งจนถึงวันนี้ น่าดีใจมาก ที่คนไทย 50%เข้าร่วมงดเหล้า โดย 80%เห็นด้วยกับงานนี้ โดยจากการสำรวจผลการดำเนินงานโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วง 9 ปีที่ผ่านมา โดยเอแบคโพล พบว่า  มีประชาชน ร้อยละ 81.1 เห็นด้วยกับโครงการนี้ และร้อยละ 50.6 เกิดความตระหนักในพิษภัย และพยายามลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มรณรงค์ มีผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา ร้อยละ 40.6 ต่อมาในปี 2554 ได้เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 53.3  จากจำนวนผู้ดื่มทั้งหมด 17 ล้านคน โดยเป็นผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน ประมาณ ร้อยละ 30 ของผู้ที่ดื่มทั้งหมด ประหยัดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,857.3 บาทต่อคน รวมทุกคนที่งดดื่ม สามารถประหยัดเงินได้  31,574 ล้านบาท การงดเหล้าทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่น พ่อ-แม่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน ช่วยลดปัญหาทางสังคม


หากเอ่ยชื่อนายนรินทร์ แป้นประเสริฐ อาจไม่คุ้นหูนัก แต่สำหรับชาวชุมชนวัดโพธิ์เรียง ลุงนรินทร์ด้วยวัย 50 ปี กับตำแหน่งประธานชุมชนวัดโพธิ์เรียง กทม.เป็นบุคคลที่น่ายกย่องและเป็นต้นแบบอย่างมาก โดยเฉพาะการริเริ่มงดเหล้า


นายนรินทร์ แป้นประเสริฐ ลุงนรินทร์เล่าว่า ดื่มเหล้ามาตั้งแต่อายุ 18 ปี จนเมื่อปี 2540 ตัดสินใจทำบัตรเครดิตไว้สำหรับจ่ายค่าเหล้าเพียงอย่างเดียว ตกเดือนละเป็นหมื่นบาท เพราะช่วงนั้นติดเพื่อน ดื่มเหล้าเข้าสังคมเป็นประจำ ต่อมาในชุมชนมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ก็ใช้การรณรงค์ให้คนหันมาดื่มเหล้าดีกว่ายาเสพติด เพราะคิดว่าเหล้าเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับรุนแรงมากกว่าเดิม ยาเสพติดก็ไม่หมดไป เพราะยิ่งคนดื่ม ก็ยิ่งสร้างปัญหาสังคมมากขึ้น ทั้งทะเลาะวิวาท การลักขโมย จนกระทั่งปี 2550 ที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชน จึงคิดหาทางแก้ปัญหาโดยใช้หลักคิดว่าหากจะให้ยาเสพติดหมดไป ต้องเริ่มที่การเลิกเหล้าให้ได้ก่อน  ดังนั้นจึงทำเป็นแบบอย่างให้กับคนในชุมชนปฏิบัติตาม


“ผมก็เริ่มจากตัวเราเอง จัดงานบวชลูกชายผมจัดเป็นงานบวชปลอดเหล้า พิมพ์ในการ์ดเลยว่าไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใหม่ๆ ก็กลัวว่าจะไม่มีคนมา เพราะในงานไม่มีเหล้า ปรากฏว่าคนมาเต็มงาน ผมจัดโต๊ะจีน 50 โต๊ะ แล้วลองคิดดูว่าหากวันนั้นผมมีเหล้าในงาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม 600 บาทต่อโต๊ะ ซึ่งเห็นชัดเจนเลยว่าผมประหยัดไปได้เยอะ ซึ่งก็มีแต่คนมาชื่นชม คนในชุมชนก็ทำตามเรา เห็นเราเป็นแบบอย่าง ตอนหลังปี 52 ผมเริ่มคุยกับร้านค้าในชุมชน 25 ร้านให้ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุดท้ายทุกร้านยินยอมปฏิบัติตาม แม้แรกๆ จะได้คำตอบว่าหากฉันทำแล้วร้านอื่นไม่ทำอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งผมต้องใช้เวลาเป็นปีในการสร้างความเข้าใจจนทุกร้านยอมปฏิบัติตาม ถึงวันนี้ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นก็ไม่เกิด ครอบครัวที่มีพ่อแม่ดื่มเหล้าก็ลดลง ลูกก็ได้ไปโรงเรียนตามปกติ เยาวชนในชุมชนก็มาพูดคุยกันมากขึ้น”ลุงนรินทร์กล่าว


ลุงนรินทร์ ยังกล่าวฝากไปถึงผู้นำชุมชนคนอื่นว่า “ผมให้กำลังใจครับว่าเรื่องแบบนี้ต้องเริ่มที่ผู้นำก่อน ถ้าเราควบคุมในชุมชนได้ ชัดเจนว่าปัญหาในชุมชนจะลดลงเลย ชุมชนเข้มแข็งไม่ใช่ว่าคนอื่นมาช่วย แต่หากเราให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมนั้นจะทำให้เข้มแข็งมากขึ้นครับ”


 


 


 


เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th


 

Shares:
QR Code :
QR Code