ค้านเด็กไทยไม่ “โง่” เน้นอ่าน! ช่วยได้
ตื่นตาตื่นใจกันอีกแล้ว กับ วันหนังสือเด็กแห่งชาติ 2 เมษายน ของทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาหนอนหนังสือน้อย ๆ พากันเดินพาเหรดเข้าชมงานกันอย่างคับคั่ง แหม..เห็นแบบนี้แล้ว ชื่นใจจริง ๆ ค่ะ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า การอ่านหนังสือ ไม่เพียงแต่ให้ความสนุกสนาน และบันเทิงใจเท่านั้น แต่หนังสือยังมีประโยชน์มากมายมหาศาล ทั้งเป็นบ่อเกิดของความรู้ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ให้เด็กได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ “การอ่าน” สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่มีที่สิ้นสุดในโลกของ “ตัวหนังสือ” ให้ผู้อ่านได้อย่างน่าอัศจรรย์…
แต่ น่าตกใจ!!!…เมื่อมีการสำรวจการอ่านหนังสือของคนไทย กลับพบว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง!!!
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ถึงสถิติการอ่านหนังสือของคนไทย พบคนไทยอ่านหนังสือลดลง จากร้อยละ 69.1 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 66.3 ในปี 2551 และจากจำนวนคนที่ไม่อ่านหนังสืออีกร้อยละ 33.7 นั้นใช้เวลาเพื่อดูโทรทัศน์ถึงร้อยละ 54.3 รองลงมา คือ ไม่มีเวลาอ่าน ไม่สนใจ หรือ ไม่ชอบอ่านหนังสือ และอ่านหนังสือไม่ออก ตามลำดับ ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไทยอ่านหนังสือลดลงเกือบทุกวัย ส่วนใหญ่จะใช้เวลาดูโทรทัศน์มากขึ้น ทำให้จินตนาการน้อยลง
“อย่างไรก็ตามคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือน้อยลงจากเฉลี่ย 51 นาทีต่อวันในปี 2548 เหลือ 39 นาทีต่อวัน ในปี 2551 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก” เลขา ฯ สสช.บอกด้วยความเป็นห่วง
และเมื่อเทียบข้อมูลกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ก็พบว่า ไทยกำลังประสบปัญหาด้านการอ่านหนังสืออย่างหนัก โดย นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ประเทศเวียดนามและสิงคโปร์มีอัตราการอ่านหนังสือของเด็กทั้งประเทศเฉลี่ย 40-60 เล่มต่อคนต่อปี ในขณะที่อัตราการอ่านหนังสือของเด็กไทย เฉลี่ยทั้งประเทศมีการอ่านเพียงแค่ 5 เล่มต่อคนต่อปีเท่านั้น…
“เมื่อย้อนกลับมามองยอดการผลิตหนังสือเด็กก็พบว่า หนังสือเด็กของไทย มีอัตราการตีพิมพ์ออกมาประมาณ 3,000 เล่มต่อปี แถมยังขายไม่ออกอีกต่างหาก ขณะที่ประเทศเวียดนามต้องพิมพ์หนังสือจำหน่ายออกมาเป็นจำนวนกว่าแสนเล่มต่อปี และในบางประเทศมีการพิมพ์ออกมาจำหน่ายมากถึงล้านเล่มต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ห่างกันจนน่าเป็นห่วงเลยทีเดียว!!.” ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชนบอก
เมื่อเจอปัญหาใช่ว่าจะไม่มีทางออก!!! เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ได้แนะนำต่อไปอีกว่า หากต้องการลดปัญหาดังกล่าว “การอ่าน อ่าน อ่าน” สามารถช่วยได้ เพราะการอ่าน ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มความรู้เท่านั้น แต่การอ่านยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนและสังคมไปด้วยในตัว เช่น การที่พ่อแม่ อ่านหนังสือ หรือเล่านิทานให้ลูกฟัง ทำให้เด็กเกิดการซึมซับและคุ้นเคยกับหนังสือ ถือเป็นการปลูกนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กได้อย่างแยบยล นอกจากนี้ยังช่วยสร้างพัฒนาการทางด้านต่างๆ มากมาย เช่น ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ขบวนการคิด จินตนาการ และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในครอบครัวอีกด้วย”
แต่!!!…ในความมืดมิด ก็ยังมีแสงสว่างให้ได้ชื่นใจ เมื่อนางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (ส.พ.จ.ท.) ออกมาระบุว่า ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา พบว่าหนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชนมีการเติบโตและมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของมูลค่าตลาดรวมหนังสือ!!! และคาดว่าในอนาคตหนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชนจะเติบโตและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20-25%
ด้วยเหตุนี้เอง การที่จะเพิ่มจำนวนสัดส่วนการอ่านหนังสือของเด็กไทย จึงควรที่จะส่งเสริมการอ่านตั้งแต่ยังเด็ก อย่างที่เห็นได้ชัด คือ การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะดึงดูดให้เด็กไทยหันมานิยมอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นได้ เพราะนอกจากจะมีหนังสือนานาชนิดให้เด็กได้เลือกอ่านแล้ว ราคาหนังสือก็ยังถูกกว่าปกติทั่วไปอีกด้วย!!
แต่อย่างไรก็ตาม การนำหนังสือมาไว้ที่เดียว ยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้เด็กไทยหันมารักการอ่านหนังสือได้ แต่ควรที่จะเริ่มต้นที่ สถาบันครอบครัว เป็นจุดแรก เพราะครอบครัวมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน เช่น พ่ออ่าน แม่สอน ซึ่งจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Child Development โดยได้ศึกษากลุมตัวอย่าง 2581 ครอบครัวทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งเป็นครอบครัวที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง 1,101 ครอบครัว เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก และติดตามทดสอบความสามารถของเด็กเมื่ออายุ 1 ขวบ 2 ขวบ และ 3 ขวบ พบว่า พ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ทารก เมื่อโตขึ้นจะสามารถเข้าใจภาษา คำศัพท์ และมีพัฒนาการด้านสติปัญญาดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านให้ฟัง
เพียงพ่อแม่ใช้เวลาแค่วันละ 20 นาที ค้นหาหนังสือที่เหมาะต่อวัยและความสนใจ บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้เด็กฟัง 2-4 เรื่องต่อวัน การอ่านออกเสียงให้ลูกฟังตัวต่อตัว จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันและทักษะการฟัง ทำให้เด็กกล้าที่จะตอบคำถาม รู้สึกผ่อนคลาย อยู่กับตัวเอง อุ่นใจและกล้าที่จะเปิดเผย กล้าถามเมื่อสงสัย ถือเป็นการสอนอย่างไม่เป็นทางการที่สมบูรณ์แบบ พ่อแม่สามารถใช้โอกาสนี้ในการสอนจากคำถามของเด็กได้อีกด้วย
จากคุณค่าของการเริ่มต้น“การอ่าน” ที่เด็กนี้เองจึงทำให้หลายหน่วยงานเริ่ม รณรงค์ให้เด็กอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น “วันหนังสือเด็กแห่งชาติ” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งชุดคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี ที่ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันหนังสือเด็กแห่งชาติ” ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมการอ่าน ทรงประพันธ์บทพระราชนิพนธ์สำหรับเด็กและเยาวชนมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์ พระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประกอบกับเป็นการสะท้อนให้เห็นความตั้งใจในการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านและพัฒนาหนังสือสำหรับเด็ก รวมทั้งพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตามการสร้างนิสัยรักการอ่านไม่สามารถสร้างได้เพียงชั่วข้ามคืน เพราะปราสาทที่ใหญ่โต ยังต้องใช้เวลาก่ออิฐ แต่ละก้อน ถูกเรียงต่อกันขึ้นไป จึงกลายเป็นปราสาทสูงและงดงามได้ การสร้างนิสัยรักการอ่านของเด็กก็เช่นกัน พ่อแม่จึงควรปลูกฝังและสร้างโอกาสการอ่านให้กับลูก เหมือนเป็นการเก็บออมสินทีละบาท ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปตามกาลเวลา…
เชื่อได้เลยว่า… หากมีการส่งเสริมเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อนาคตสถิติการอ่านหนังสือจะไม่อยู่เพียงแค่ 5 เล่มต่อคนต่อปีแน่นอน…
ที่มา : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
Update : 03-04-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์