ค่ายศิลปินสัญจร ใช้ศิลปะสร้างเยาวชน

ค่ายเรียนรู้ศิลปะในพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน


ค่ายศิลปินสัญจร ใช้ศิลปะสร้างเยาวชน thaihealth


“อยากฝากความคิดถึงให้ถึงคนไกล อยากฝากความห่วงใยให้ไปถึงบ้าน


ลูกจากมาหนึ่งวันเหมือนนานแสนนาน นั่งมองดาวบนฟ้าแค่เพียงลำพัง


บ่าสบายกระเป๋าใส่ความมุ่งมั่น หวังให้สิ่งที่ฝันพบเจอหนทาง


รักจากพ่อแม่นั้นคือแรงพลัง ช่วยต่อเติมความหวังและกำลังใจ”


“ขอฝากความคิดถึงไปกับสายลม ยามความเหงาพร่างพรมลงบนหัวใจ


แม้เส้นทางก้าวเดินจะยากแค่ไหน จะก่อสร้างความภูมิใจให้คนที่บ้าน


ดาวบนดินถิ่นนี้ หนองบัวลำภู สิ่งที่ได้เรียนรู้คือแสงสร้างสรรค์


เราต่างคนก็มีจุดหมายเดียวกัน อุปสรรคผลักดันให้ฝันเป็นจริง”


นี่คือเสียงเพลงที่มีเพียงกีตาร์เป็นเครื่องกำกับและให้จังหวะ ดังกังวานไปทั้งลานหินในคืนเดือนมืด บางช่วงของบทเพลงได้กรีดหัวใจทั้งคนร้องและคนฟังให้เหงาลึก แต่ทว่ากลับทำให้บางคนนั้นเปี่ยมด้วยพลังพร้อมที่จะสู้และท้าฟันกับอุปสรรคนานัปการ


เพลงนี้ชื่อว่า “สายลมแห่งความคิดถึง” เกิดจากบรรดาเยาวชนในจังหวัดหนองบัวลำภูร่วมกันแต่งระหว่างเข้า “ค่ายศิลปินสัญจร สอนศิลป์ถิ่นทุรกันดาร” ที่ภูพานน้อย แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งจัดขึ้นโดยเครือข่ายศิลปินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาจารย์สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายศิลปินภาคอีสาน เป็นผู้ประสานงาน ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


สำหรับเวลา 2 คืน 3 วัน บนลานกว้างของภูพานน้อย ที่ใครหลายคนเคยมากางเต็นท์ นอนชมดาว สถานที่แห่งนี้ยังกลายเป็นแหล่งรวมความฝันของพวกเขา เด็กๆ และเยาวชนกว่า 100 คนที่แบกความมุ่งมั่นมาเต็มสองบ่า เพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์บนเทือกเขาแห่งนี้


อาจารย์สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายศิลปินภาคอีสาน กล่าวว่า จุดมุ่งหมายหลักของกิจกรรมคือต้องการส่งต่อศิลปวัฒนธรรมอีสานจากศิลปินไปสู่คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เด็กๆ เกิดความตระหนักรู้ในคุณค่า ภูมิใจกับภูมิปัญญาอีสาน เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เปิดโอกาสให้เด็กๆ เหล่านี้ได้แสดงศักยภาพที่อาจจะยังซ่อนตัวอยู่ โดยให้เขาได้ทดลองทำตามความคิด ความฝันของตัวเอง


ค่ายศิลปินสัญจร ใช้ศิลปะสร้างเยาวชน thaihealthทั้งนี้ ในค่ายศิลปินสัญจร มีฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน ประกอบด้วย วรรณกรรม เพลง จิตรกรรม และถ่ายภาพ โดยเด็กๆ ได้มีโอกาสเลือกที่จะเข้าฐานใดก็ได้ตามความสนใจและความใฝ่ฝันของตนเอง แต่จะต้องอยู่ในฐานนั้นตลอด 3 วัน เพื่อพัฒนาและฝึกฝนทักษะกับวิทยากรที่มีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะแต่ละแขนง เช่น วสุ ห้าวหาญ และนิด ลายสือ กับฐานบทเพลง, อังคาร จันทาทิพย์ ฐานวรรณกรรม, เพลิง วัตสาร ฐานจิตรกรรมหรือภาพวาด และ รศ.สุวัฒน์ จิตต์ปราณีชัย กับฐานการถ่ายภาพ เป็นต้น


โดยศิลปินเหล่านี้ก็พร้อมใจกันสละเวลามาช่วย “ปั้นฝัน” ให้กับเด็กๆ และเยาวชนคนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองใหญ่ที่ไม่มี “ครูสอนศิลปะ”


“นิด ลายสือ” นักเขียน นักแต่งเพลง และนักร้อง วิทยากรคนหนึ่งของค่าย บอกว่า เวลาไม่กี่วันที่อยู่ในค่าย เพียงเท่านี้ สิ่งที่พวกเราศิลปินทำได้ดีที่สุดคือการสร้างแรงบันดาลใจ เพราะนั่นคือบันไดก้าวแรกหรือหน้าต่างบานแรกที่เปิดออกสู่โลกกว้างอันทำให้เราได้ค้นพบ “ตัวตน” ที่แท้จริง


“การได้เข้ามาเรียนรู้ศิลปะอาจไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องก้าวเข้ามาสู่การเป็นศิลปินอาชีพ แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเครื่องมือของการขัดเกลาจิตใจ และในอีกมุมหนึ่งของความงดงามของค่ายนี้ คือเป็นแหล่งการเรียนรู้ ถ่ายทอด ต่อยอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งแล้ว ยังเป็นการสร้าง “พื้นที่” ให้กับศิลปินในท้องถิ่นอีกด้วย”


“อังคาร จันทาทิพย์” กวีซีไรต์ เจ้าของผลงาน “หัวใจห้องที่ห้า” เล่าว่า ตัวเองเติบโตมาจากค่ายวรรณกรรมในโรงเรียน คือเป็นคนชอบการขีดเขียนอยู่แล้ว ค่ายวรรณกรรมมันตอบโจทย์ และเป็นเวทีที่ได้พบนักเขียน ให้เขาได้มีโอกาสวิจารณ์งาน และเราได้เรียนรู้และฝึกฝนตัวเองต่อไป


ขณะที่ “เพลิง วัตสาร” ผู้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมอันทรงคุณค่าอีกคนหนึ่งของเมืองไทย ที่สร้าง “หอศิลป์” ขึ้นในบ้านของตนเองซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ และสามารถมี “ที่ยืน” บนผืนผ้าใบ เป็นไอดอลให้กับรุ่นน้องๆ คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเป็นอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างให้กับใครๆ อีกหลายคน ก็ไม่พลาดที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านี้ให้เยาวชน


นอกจากนี้ ในค่ายดังกล่าว เด็กๆ ยังได้รู้จักกับ “พ่อบงกช เมืองสนธิ์” เจ้าของนามปากกา “ฮอยล้อ” อดีตพ่อค้าขายผลไม้อยู่ข้างร้านสะดวกซื้อ ฮอยล้อ ไม่ใช่แค่ชายขายผลไม้ แต่เป็นปราชญ์พื้นบ้านด้านวรรณกรรม เป็นนักคิด นักอ่าน นักค่ายศิลปินสัญจร ใช้ศิลปะสร้างเยาวชน thaihealthเขียน ที่มีผลงานเรื่องสั้นและบทกวีตีพิมพ์นับร้อยชิ้นอยู่ในสวนอักษร รวมทั้งยังได้รู้จัก “แม่กรมศิลป์ ดวงจันทร์” หญิงสูงวัย ภูมิปัญญาแห่งหนองบัวลำภู ที่มีรางวัลระดับชาติหลายรางวัลเป็นเครื่องรับประกันความรู้ ความสามารถ


ด้านนายแพทย์ศราวุธ สันตินันตรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ร่วมสนับสนุนโครงการ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น เราได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า เราจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ผู้คนจะต้องมีวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีแบบพอเพียง


ทั้งนี้ การจัดค่ายแบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของตนเอง และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ โดยในปีหน้าเราได้วางแผนด้านงบประมาณแล้ว อาจจะจัดเป็นค่ายศิลปะรวมหลายๆ แขนงเข้าด้วยกันแบบนี้ หรืออาจจัดแยกเป็นค่ายเฉพาะก็ได้


นี่คือกิจกรรมที่ถูกจุดประกายขึ้นมาแล้ว ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนและท้องถิ่นช่วยกันผลักดันให้เด็กๆ ที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ ได้รับความปลอดภัยจากความเสี่ยงรอบๆ ตัว ภายใต้ค่ายเรียนรู้ศิลปะในพื้นที่สร้างสรรค์


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code